รายใหญ่กอดดอลลาร์แน่น4แสนล. “บาทแข็ง”ขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน

(Photo by Delil SOULEIMAN / AFP)

“ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี” เปิดตัวเลขบัญชี FCD ธุรกิจขนาดใหญ่กอดดอลลาร์ไว้กว่า 4 แสนล้านบาท “ไม่แลกเงินบาท” กลัวขาดทุนช่วงบาทแข็ง ประธานสมาคมแบงก์ระบุธุรกิจต้องบริหารพอร์ต ตลท.ห่วงเฟดลดดอกเบี้ย “กรุงศรี” ชี้โอกาสบาทกลับมาอ่อนมีน้อย ด้านสภาผู้ส่งออกรับรายใหญ่ตุนรอจังหวะทำกำไร

นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี (TMB Analytics) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ช่วงครึ่งแรกปี 2562 สถิติยอดคงค้างเงินฝากที่เป็นเงินตราต่างประเทศ (FCD) ในภาพรวมอยู่ที่ 7.16 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 12% เมื่อจำแนกพบว่า ส่วนใหญ่เป็น FCD ของกลุ่มธุรกิจที่มีถึง 4.33 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่เหลือเป็นกลุ่มผู้มีถิ่นฐานในต่างประเทศ (nonresidents) มี FCD ที่ 2.11 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% และอื่น ๆ (รวมบุคคลธรรมดาและสถาบันการเงิน) 7.2 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 8%

กอดดอลลาร์กว่า 4 แสนล้าน

การเพิ่มขึ้นของ FCD สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมากช่วงที่ผ่านมา แต่ธุรกิจที่ถือ FCD อยู่ราว 4.33 แสนล้านบาทนั้น ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมที่บริหารรายได้กับรายจ่ายที่เป็นเงินตราต่างประเทศให้สอดคล้องกัน (natural hedge) หรือทำ FX matching คือ ได้เงินส่งออกมาเป็นดอลลาร์แล้วไม่แลกเป็นเงินบาททันที เพราะถ้าแลกแล้วขาดทุน จึงเก็บไว้ในเงินฝากที่เป็น FCD ก่อน ซึ่ง FCD จะมีกฎเกณฑ์ให้ถือครองได้ไม่เกิน 360 วัน

“ตัวเลข FCD ภาคธุรกิจที่เพิ่ม 10% แสดงว่า มีธุรกิจที่เก็บเงินดอลลาร์ไว้ไม่ยอมแลกเป็นเงินบาท ทำ FX matching แล้วก็รอไว้ ถ้ามีรายจ่ายเป็นสกุลเงินดอลลาร์ก็ค่อยโอนออกไป ไม่ต้องแลกกลับมาเป็นเงินบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่อย่างพวกธุรกิจน้ำมัน เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนรถยนต์ ที่นำเข้ามาประกอบแล้วส่งออก แล้วมีกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า กลุ่มธุรกิจรถยนต์ แต่คนจะทำ FCD ได้ ต้องมีทั้งการนำเข้าและส่งออก หรือถ้าขายดอลลาร์ได้ ก็ต้องมียอดซื้อเป็นดอลลาร์ ซึ่งไม่ใช่ทุกธุรกิจที่จะทำ 2 ขาได้ จะมีแต่ธุรกิจขนาดใหญ่ มีเงินมาก เอสเอ็มอีทำไม่ไหว”

ชี้ต้องบริหารพอร์ตไม่ให้ขาดทุน

นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย และกรรมการในคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวว่า การเก็บเงินตราต่างประเทศไว้ในรูป FCD ถือเป็นสิทธิที่ทำได้ของธุรกิจ ตนไม่ได้เห็นตัวเลขว่า การเติบโตมีขนาดไหน ซึ่งแต่ละแบงก์ก็คงพิจารณาความเหมาะสมกันเอง

“อย่างเช่น เวลาแบงก์จะไฟแนนซ์ลูกค้า ก็ต้องดูว่า source of fund (แหล่งเงินทุน) มาจากไหน จะ matching (จับคู่) กันได้อย่างไร ยกตัวอย่าง ธนาคารกสิกรไทย จะดูว่าภาระที่เป็นเงินตราต่างประเทศมีเท่าไหร่ ก็ match กับตัวที่ funding ก็เท่านั้นเอง เพราะพอร์ตโฟลิโอของแต่ละคนก็ต้องดูแลกันเอง เช่น ถ้าในจังหวะหนึ่ง การแลกเงินแล้วทำให้เขา gain (กำไร) มากกว่า เขาก็ทำ แต่ถ้า loss (ขาดทุน) เขาก็ไม่ทำ โดยเฉพาะธุรกิจรายใหญ่ ๆ ที่เขาค้าขาย 2 สกุลเงิน ก็จะเป็น natural hedge ไม่ต้องแลก ก็เก็บไว้ใช้”

ตลท.จับตาฟันด์โฟลว์ทะลัก

ขณะที่นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า การทำธุรกิจโดยทั่วไป หากบริษัทไหนที่มีค่าใช้จ่ายหรือรายได้ที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศ ก็ควรจะเก็บเอาไว้เพื่อใช้จ่ายในต่างประเทศ ถือเป็นเรื่องปกติ แต่นโยบายที่จะแลกเงินกลับมาเป็นสกุลเงินบาทนั้นจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัทที่รับรายได้จากต่างประเทศเข้ามา

เตือนระวังกอดดอลลาร์เสี่ยง

นายสมประวิณ มันประเสริฐ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า กรณีที่บริษัทเอกชนไทยถือเงินสกุลดอลลาร์ในภาวะที่ค่าเงินบาทแข็งค่านั้น อาจไม่ได้เกี่ยวข้องหรือส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยตรง เนื่องจากเป็นการบริหารเงินของบริษัทเอกชนเท่านั้น อย่างไรก็ตาม บริษัทเอกชนที่ใช้วิธีบริหารเงินลักษณะนี้ต้องระมัดระวัง เนื่องจากโอกาสที่ค่าเงินบาทจะกลับมาอ่อนค่ามีน้อย

“เราประเมินค่าเงินบาทในช่วงที่เหลือของปี 2562 ว่าจะอยู่ที่ 30.66 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และมีโอกาสที่บาทจะแข็งค่าได้มากกว่าที่ประเมินไว้ จากปัจจัยภายนอก ได้แก่ เศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง สงครามการค้า แต่เชื่อว่าค่าเงินบาทจะไม่แข็งค่าจนหลุด 30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนของฟันด์โฟลว์ประเมินว่าจะยังไหลเข้ามาลงทุนในไทย”

หวังจ่ายหนี้ลดค่าฟี 1-3%

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการที่ถือครองเงินดอลลาร์ขณะนี้มี 2 รูปแบบ คือ กรณีที่มีเงินหมุนเวียนในบัญชีพอก็จะเก็บรักษาให้ดีก่อน เพื่อรออัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสมจึงแลกคืน ซึ่งมีไม่มาก และต้องเป็นบริษัทที่มีฐานะการเงินที่ดีมาก ส่วนใหญ่จะเป็นรายใหญ่ อีกกรณีหนึ่งเป็นกิจการที่มีทั้งการนำเข้า-ส่งออกทั้งสองขา จะเก็บเงินดอลลาร์ไว้เพื่อสั่งซื้อสินค้าที่เป็นวัตถุดิบ หรือเป็นสินค้าทุนอื่น ๆ โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมธนาคารในการประกันอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า

รูปแบบการทำธุรกรรมที่ใช้กันประจำมี 2 แบบ แบบแรกเรียกว่า FX (foreign exchange) forward หรือขายดอลลาร์ล่วงหน้า และแบบที่ 2 ที่ใช้กันมาก ๆ ในกิจการระดับ SMEs คือ FX options ค่าธรรมเนียมจะแพงกว่าแบบแรก แต่สามารถเลือกอัตราแลกเปลี่ยนในวันที่เราจะรับเงินได้ ซึ่งทั้ง 2 แบบมีค่าธรรมเนียมรวมกัน ประมาณ 1-3% ของราคาขาย จะน้อยหรือมากกว่านี้ขึ้นอยู่กับข้อตกลงระหว่างผู้ประกอบการกับธนาคาร เป็นรายใหญ่รายย่อย มีวงเงินกับธนาคารมากน้อยแค่ไหน เป็นลูกค้าประจำธนาคารหรือไม่ (หน้า 1, 4)