JMT ทุ่ม 300 ล้าน เทคโอเวอร์ บ.ประกันวินาศฯ เข้าถือหุ้นใหญ่ 55% หวังดึง “อินชัวร์เทค” บริการลูกค้าในมือ จ่อสรุป ต.ค.นี้

บมจ.เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT) ทุ่มเม็ดเงินกว่า 300 ล้านบาท เทคโอเวอร์บริษัทประกันวินาศภัยไซต์เล็ก จ่อเข้าถือหุ้นใหญ่ 55% เตรียมรุกธุรกิจ “อินชัวร์เทค” หวังพัฒนาโปรดักต์หนุนบริการลูกค้าในมือ คาดสรุปดิวน์ช่วงตุลาคมนี้ พร้อมเดินหน้ารีแบรนด์ใหม่ในอีก 2 ปีข้างหน้า

นายปิยะ พงษ์อัชฌา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT ผู้ให้บริการติดตามเร่งรัดหนี้สินในส่วนที่เป็นหนี้ด้อยคุณภาพครอบคลุมทุกประเภท เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต เช่าซื้อ และค่าสาธารณูปโภคต่างๆ รวมถึง ฟ้องร้อง สืบทรัพย์ และบังคับคดีทั่วประเทศไทย มากว่า 20 ปี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทอยู่ระหว่างเจรจาซื้อกิจการบริษัทประกันวินาศภัยขนาดเล็กแห่งหนึ่งในประเทศไทย โดยเป็นบริษัทฯ ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านอินชัวร์เทคโดยเฉพาะ ซึ่งจากการเจรจาครั้งนี้ บริษัทฯ จะใช้เงินลงทุนราว 300 ล้านบาท โดย บมจ.เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT) จะเข้าถือหุ้นใหญ่สัดส่วนที่ 55% และคาดว่าจะสรุปผลได้ในช่วงเดือนตุลาคม 2560 ที่จะถึงนี้

“อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ มีแผนที่จะนำบริษัทประกันวินาศภัยแห่งนี้ มาพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยและการบริการต่างๆ เอื้อประโยชน์ให้แก่ลูกค้าในเครือของ บมจ.เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT) เช่น ลูกหนี้เจ เอ็ม ที จำนวน 3 ล้านราย, ลูกค้าเจ มาร์ท (ปัจจุบัน เจ มาร์ท ขายโทรศัพท์มือถือเฉลี่ยปีละ 1 ล้านเครื่อง) ลูกค้าเจเอเอส แอสเซ็ท (ศูนย์การค้า The Jas) ที่เช่าพื้นที่ในโครงการฯ เชื่อว่าลูกค้ากลุ่มนี้ต่างสนใจที่จะมีหลักประกันเพื่อบริหารความเสี่ยง ซึ่งเราจะเข้าไปตอบโจทย์ความต้องการไม่ว่าจะเป็นประกันรถยนต์ ประกันทรัพย์สิน เป็นต้น รวมถึงขยายไปสู่กลุ่มลูกค้าทั่วไปด้วย” นายปิยะกล่าว

ทั้งนี้ รูปแบบของการขายประกันจะเน้นขายผ่านช่องทางดิจิทัลเป็นหลัก ซึ่งจะเป็นรูปแบบที่ไม่ต้องผ่านนายหน้า และสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการจ่ายให้กับนายหน้าประมาณ 20% อีกด้วย เพราะพาร์ทเนอร์ของบริษัทฯ ที่ถือหุ้นอยู่ 45% เป็นกลุ่มคนยุคใหม่ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านอินชัวร์เทคเป็นอย่างดี ในการที่จะช่วยให้บริษัทมีอัตราการเติบโตที่ดีในอนาคต

“หลังจากนั้น บริษัทฯ มีแผนในการรื้อปรับภาพลักษณ์ (รีแบรนด์) รองรับการให้บริการลูกค้าในยุคดิจิทัล เพื่อเชื่อมต่อได้ 24 ชั่วโมง ในอีกประมาณ 2 ปีข้างหน้า” นายปิยะกล่าว