4 เสือแห่งเอเชีย ปัจจัยรุมเร้าที่ควรจับตา และนัยต่อเศรษฐกิจไทย

คอลัมน์ เลียบรั้วเลาะโลก

โดย ขวัญใจ เตชเสนสกุล EXIM BANK

ย้อนกลับไปราว 40 ปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ทั่วโลกต่างจับตามองประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งประกอบด้วย ฮ่องกง สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และไต้หวัน จนประเทศเหล่านี้ได้รับการขนานนามว่า “4 เสือเศรษฐกิจแห่งเอเชีย (Four Asian Tigers : FATs)” ปัจจุบันกลุ่ม FATs ได้ก้าวข้ามสู่เศรษฐกิจรายได้สูง (high-income economies) และกลายเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการค้าที่สำคัญในภูมิภาคเอเชีย ดังเห็นได้จากขนาดเศรษฐกิจของกลุ่ม FATs คิดเป็นสัดส่วน 21% ของเศรษฐกิจทั้งภูมิภาค ขณะที่สัดส่วนการส่งออกคิดเป็น 53% ของมูลค่าส่งออกทั้งภูมิภาค (ไม่รวมจีน)

อย่างไรก็ตาม จากภาวะเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ซบเซา รวมถึงสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่รุนแรงขึ้นเป็นลำดับ ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจกลุ่ม FATs อย่างรุนแรง จากการที่กลุ่ม FATs พึ่งพาการส่งออกในระดับสูง โดยเฉพาะการส่งออกไปจีน ซึ่งมูลค่าส่งออกของ FATs ไปจีน คิดเป็นสัดส่วนกว่า 40% ของมูลค่าส่งออกรวม ทำให้หลายฝ่ายเริ่มกังวลว่า เศรษฐกิจ FATs กำลังจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในเวลาอันใกล้

สังเกตได้จากอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาส 2 ปี 2562 (เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า) ของฮ่องกง และสิงคโปร์ หดตัวแล้ว (หากเศรษฐกิจหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกันจะถือว่าเข้าสู่ภาวะถดถอย) ทั้งนี้ เศรษฐกิจของกลุ่ม FATs ที่สุ่มเสี่ยงจะเข้าสู่ภาวะถดถอย อาจกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากไทยมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับกลุ่ม FATs อย่างใกล้ชิดในหลายมิติ ดังนี้

มิติด้านการส่งออก ในปี 2561 ไทยส่งออกไปกลุ่ม FATs คิดเป็นสัดส่วน 12% ของมูลค่าส่งออกรวม สูงสุดเป็นอันดับ 1 ของไทย มากกว่าตลาดหลักทั้งสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น รวมทั้งจีน อย่างไรก็ตาม การส่งออกของไทยไปกลุ่ม FATs เริ่มได้รับผลกระทบทางลบชัดเจนมากขึ้น โดยในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2562 หดตัวกว่า 9% (ไม่รวมอัญมณีและเครื่องประดับ) จากการส่งออกสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางที่หดตัวมาก อาทิ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เนื่องจากการผลิตภาคอุตสาหกรรมของประเทศเหล่านี้ชะลอลง สะท้อนได้จากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (purchasing manager index : PMI) ของกลุ่ม FATs ที่ต่างลดระดับลงมาต่ำกว่า 50 ทั้งนี้ หากเศรษฐกิจกลุ่ม FATs เข้าสู่ภาวะถดถอยอาจเป็นปัจจัยฉุดรั้งการส่งออกของไทยในระยะถัดไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

มิติด้านการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวจากกลุ่ม FATs ถือเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติสำคัญอันดับ 3 ของไทย คิดเป็นสัดส่วน 12% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด รองจากนักท่องเที่ยวชาวจีน (29%) และยุโรป (17%) อย่างไรก็ตาม จากภาวะเศรษฐกิจกลุ่ม FATs ที่ซบเซาในปัจจุบัน ทำให้นักท่องเที่ยวเริ่มชะลอการเดินทางและรัดเข็มขัดในการใช้จ่าย สะท้อนจากในช่วง 7 เดือนแรก ปี 2562 จำนวนนักท่องเที่ยวจากกลุ่ม FATs ขยายตัวเพียง 4% ชะลอลงจากที่ขยายตัว 11% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งหากเศรษฐกิจกลุ่ม FATs ยังไม่มีทีท่าจะฟื้นตัว อาจกระทบรายได้ภาคการท่องเที่ยวที่เป็นแรงหนุนสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยมาโดยตลอด

มิติด้านการลงทุน ไทยพึ่งพาเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ (foreign direct investment : FDI) จากกลุ่ม FATs มากเป็นอันดับ 2 รองจากญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจกลุ่ม FATs ที่ชะลอลง ส่งผลให้ FDI ของไทยจากกลุ่มดังกล่าวชะลอตามไปด้วย ทั้งนี้ มูลค่าเงินลงทุนโดยตรงจากกลุ่ม FATs ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงเหลือ 11% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 เทียบกับที่ขยายตัวสูงถึง 30% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน


คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญปัจจัยบั่นทอนจากภายนอกประเทศ จากการที่เศรษฐกิจไทยพึ่งพาภาคต่างประเทศในระดับสูง ดังนั้น ในช่วงที่เศรษฐกิจ FATs อยู่ในช่วงชะลอตัว ผู้ประกอบการควรติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและเตรียมเกราะป้องกันเพื่อบรรเทาความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา