ดอลลาร์เคลื่อนไหวแคบ ตลาดจับตาตัวเลขเงินเฟ้อปลายสัปดาห์

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 11 กันยายน 2560 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (11/9) ที่ 33.13/15 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (8/9) ที่ระดับ 33.09/11 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (8/9) นายวิลเลียม ดัดลีย์ ประธานเฟดสาขานิวยอร์ก กล่าวว่า เฟดควรจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะเดียวกัน เขาคาดว่าอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นจากระดับต่ำ และคาดว่างบดุลของเฟดจะลดลงสู่ระดับ 2.4-3.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงต้นทศวรรษหน้า จากระดับ 4.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบัน นอกจากนี้นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ เปิดเผยว่า รัฐบาลสหรัฐต้องการหลีกเลี่ยงการใช้ปฏิบัติการทางทหารกับเกาหลีเหนือ แม้การดำเนินการดังกล่าวเป็นหนึ่งในทางเลือกที่อาจเกิดขึ้นได้ก็ตาม ในขณะที่เกาหลีเหนือได้ออกมาขูว่าจะตอบโต้สหรัฐ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ อย่างรุนแรง หากประเทศเหล่านี้ยังคงผลักดันให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ใช้มาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมต่อเกาหลีเหนือ ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.11-33.15 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 33.11/13 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับปัจจัยในประเทศ วันนี้ (11/9) นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวว่า เงินบาทาที่แข็งค่าขึ้นในขณะนี้ เป็นการแข็งค่ามากกว่าสกุลอื่น ๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องตระหนักเพราะจะทำให้การแข่งขันยากขึ้น แต่มองว่าเรื่องนี้ทางธนาครแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำลังพิจารณามาตรการเพื่ออกมาแก้ไข โดยยอมรับว่ามีผลกระทบกับภาพรวมเศรษฐกิจโดยเฉพาะการส่งออก

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้ (11/9) เปิดตลาดที่ระดับ 1.2011/12 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (8/9) ที่ระดับ 1.2059/63 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (8/9) สำนักงานสถิติเยอรมนีเปิดเผยว่า ยอดส่งออกเดือน ก.ค. ปรับขึ้นเพียง 0.2% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน น้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1.25% ขณะที่ยอดนำเข้าเพิ่มขึ้น 2.2% น้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2.8% นอกจากนี้สำนักงานสถิติแห่งชาติของฝรั่งเศส (Insee) เปิดเผยว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมประจำเดือน ก.ค. ขยายตัวเพียง 0.5% เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งต่ำกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.7% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1991-1.2039 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.2014/16 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับค่าเงินเยนในวันนี้ (11/9) เปิดตลาดที่ระดับ 108.44/47 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (8/9) ที่ระดับ 107.67/69 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (8/9) รัฐบาลญี่ปุ่นได้ปรับลดประมาณการการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในไตรมาส 2 ลงสู่ระดับ 2.5% จากตัวเลขประมาณการเบื้องต้นที่ระบุว่าจะขยายตัว 4.0% เมื่อเทียบรายปี นอกจากนี้กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน ก.ค. เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 2.32 ล้านล้านเยน (2.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยได้รับแรงหนุนจากเงินลงทุนของต่างประเทศ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 108.12-108.61 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 108.45/47 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในช่วงต้นสัปดาห์นี้ได้แก่ ยอดสั่งซื้อเครื่องจักรของญี่ปุ่น (11/9) ตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมของอิตาลี (11/9) อัตราการว่างงาน ของอิตาลี (12/9) ดัชนีราคาผู้บริโภคของอังกฤษ (12/9) ดัชนีราคาผู้ผลิตของญี่ปุ่น (12/9) ดัชนีราคาผู้บริโภคของเยอรมนี (13/9) อัตราการว่างงานของอังกฤษ (13/9) ดัชนีราคาผู้ผลิตของสหรัฐ (13/9) อัตราการว่างงานของออสเตรเลีย (13/9)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.1/-1.8 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -2.3/-1.3 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ