เงินบาทกลับมาแข็งค่า จับตา 25 ก.ย. ผลประชุม กนง.

แฟ้มภาพ
เงินบาทกลับมาแข็งค่าช่วงท้ายสัปดาห์ ขณะที่ดัชนีหุ้นไทยปรับลงจากแรงฉุดของหุ้นกลุ่มพลังงานและตัวเลขส่งออกไทยเดือนส.ค.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เงินบาททยอยแข็งค่ากลับมาท้ายสัปดาห์ โดยเงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงต้นสัปดาห์ สอดคล้องกับทิศทางของสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค และสถานะขายพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ นอกจากนี้ ตัวเลขยอดค้าปลีกและดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าที่คาด ยังหนุนให้เงินดอลลาร์ฯ แข็งค่าขึ้นช่วงก่อนการประชุมเฟดด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดี เงินบาททยอยแข็งค่ากลับมาในช่วงปลายสัปดาห์ หลังจากแรงหนุนของเงินดอลลาร์ฯ (ที่ขยับขึ้นหลังเฟดไม่ส่งสัญญาณอย่างชัดเจนในเรื่องการลดดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า) เริ่มจำกัดลง ประกอบกับธนาคารกลางของหลายประเทศยังไม่ลดดอกเบี้ยลงตามเฟด แม้ว่าจะยังคงส่งสัญญาณพร้อมผ่อนคลายนโยบายการเงินก็ตาม

ในวันศุกร์ (20 ก.ย.) เงินบาทอยู่ที่ 30.48 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 30.45 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (13 ก.ย.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (23-27 ก.ย.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 30.30-30.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยในประเทศที่ตลาดรอติดตาม ได้แก่ ผลการประชุม กนง. (25 ก.ย.) ขณะที่จุดสนใจในต่างประเทศ ได้แก่ ความคืบหน้าของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน และสัญญาณดอกเบี้ยจากถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญระหว่างสัปดาห์ ได้แก่ ดัชนี PMI เบื้องต้น และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.ย. ยอดขายบ้านใหม่ ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน รายได้-รายจ่ายส่วนบุคคล และอัตราเงินเฟ้อที่วัดจาก PCE/Core PCE Price Indices เดือนส.ค. ดัชนีราคาบ้านเดือนก.ค. และตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/2562

ส่วนความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย ดัชนีตลาดหุ้นไทยร่วงลงต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อน โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,636.20 จุด ลดลง 1.55% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 65,077.37 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.73% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai ลดลง 2.16% จากสัปดาห์ก่อน มาปิดที่ 346.76 จุด

ดัชนีตลาดหุ้นไทยขยับขึ้นเล็กน้อยช่วงต้นสัปดาห์ โดยมีแรงหนุนจากหุ้นกลุ่มพลังงานตามทิศทางราคาน้ำมันโลกที่พุ่งขึ้นหลังเกิดเหตุการณ์โจมตีโรงกลั่นน้ำมันในซาอุดีอาระเบีย อย่างไรก็ดี ดัชนีฯ ร่วงลงในเวลาต่อมาตามแรงขายของกลุ่มนักลงทุนสถาบัน ประกอบกับมีแรงกดดันในหุ้นกลุ่มพลังงาน หลังตลาดคลายความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำมันในซาอุดีอาระเบีย นอกจากนี้ ตลาดหุ้นไทยยังเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมช่วงปลายสัปดาห์จากการเปิดเผยตัวเลขการส่งออกเดือนส.ค. ซึ่งค่อนข้างอ่อนแอ


สำหรับสัปดาห์ถัดไป (23-27 ก.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,630 และ 1,610 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,650 และ 1,660 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ การประชุมนโยบายการเงินของกนง. (25 ก.ย.) ประเด็นการค้าสหรัฐฯ-จีน และสถานการณ์ BREXIT ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/62 (ครั้งสุดท้าย) ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน และรายได้และรายจ่ายส่วนบุคคลเดือนส.ค. รวมถึงดัชนี PMI Composite (เบื้องต้น) เดือนก.ย. ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ รายงานการประชุมนโยบายการเงินของ BOJ ดัชนี PMI Composite (เบื้องต้น) เดือนก.ย. ของยูโรโซนและญี่ปุ่น รวมถึงกำไรภาคอุตสาหกรรมเดือนส.ค.ของจีน