ไทยอันดับ 25 ตั้งธุรกิจใหม่ง่าย โละ “ตม.30” คลายล็อกคุมเข้มต่างชาติ

โละแบบฟอร์ม ตม.30 ใช้รูปแบบคิวอาร์โค้ดบนแอปพลิเคชั่น แก้ปัญหาถูกต่างชาติโวยยุ่งยาก-สร้างภาระ อีก 3 เดือนเสร็จ รมว.คลัง “อุตตม” มั่นใจปีนี้เวิลด์แบงก์ขยับอันดับ doing business เป็นอันดับ 25 จากปีก่อนอยู่ที่ 27 ส่งผลด้านบวกต่อเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่น

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ภายใน 2-3 เดือนข้างหน้า รัฐบาลไทยจะยกเลิกใบ ตม.30 หรือแบบฟอร์มให้เจ้าของที่พักแจ้งการเข้าพักอาศัยของคนต่างด้าวรูปแบบเดิม เนื่องจากกระบวนการในรูปแบบเดิมนั้นสร้างความยุ่งยากวุ่นวายให้กับชาวต่างชาติ รวมทั้งผู้ครอบครองเคหสถาน หรือผู้จัดการโรงแรม ฯลฯ ขณะนี้หลายหน่วยงานได้ทำงานร่วมกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) โดยเข้ามาดูแลแก้ไขปัญหาให้ตอบโจทย์ความต้องการของชาวต่างชาติ และผู้ครอบครองเคหสถาน

“จะเปลี่ยนเป็นรูปแบบคิวอาร์โค้ดบนแอปพลิเคชั่นแทนรูปแบบเดิม ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการพัฒนาระบบให้ดีขึ้น อย่างไรก็ดี ไม่ได้นำ national digital ID หรือ NDID เข้ามาใช้ในระบบพิสูจน์ตัวตน เนื่องจากระบบดังกล่าวเป็นของที่ต่างประเทศพัฒนา พร้อมกันนี้ รัฐบาลมีเทคโนโลยีสำหรับประเมิน พิสูจน์ตัวตนเข้ามาใช้เรียบร้อยแล้ว มั่นใจว่าจะสร้างความพึงพอใจให้กับชาวต่างชาติ”

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยหลังการประชุมการรายงานผลการดำเนินการตามแนวทางการปรับปรุงสภาพแวดล้อม สำหรับการประกอบธุรกิจในประเทศไทยของธนาคารโลก (doing business) ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนรายใหญ่ เช่น สมาคมธนาคารไทย หอการค้าไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่าการจัดอันดับของไทยในปี 2562 จะได้รับการปรับอันดับให้ดีขึ้นเป็นอันดับที่ 25 จากปีก่อนอยู่ที่อันดับ 27 ของโลก โดยจะประกาศผลในวันที่ 30 ต.ค.นี้ ซึ่งปัจจุบันไทยยังเป็นรองประเทศในกลุ่มอาเซียน 2 ประเทศ คือ สิงคโปร์ ซึ่งเป็นอันดับ 1 ของโลก และมาเลเซียอยู่ในอันดับ 10 กว่าของโลก

“มั่นใจว่าปีนี้ไทยจะลงมาเป็นอันดับที่ 25 ของโลก เนื่องจากเราทำตามคำแนะนำของธนาคารโลกแล้ว หากไทยอันดับดีขึ้นมาก ๆ ก็จะเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจ และช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุนให้กับประเทศไทยได้”

ในช่วงวันที่ 16-17 พ.ค.ที่ผ่านมา ทีมวิจัยธนาคารโลกได้จัดทำข้อมูลของประเทศไทยแล้ว และได้รับทราบผลการเร่งรัดให้ทุกหน่วยงานปรับปรุงการอำนวยความสะดวกทางธุรกิจ เช่น การลดระยะเวลาการขอติดตั้งไฟฟ้าเหลือเพียง 1 วัน พร้อมทั้งทำให้ต้นทุนการขอใช้ไฟฟ้าจากเดิมประมาณ 77,000 บาท


ปัจจุบันไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมบริการทางภาษีด้วยระบบออนไลน์ให้กับภาคธุรกิจ ด้วยการปรับปรุงแบบแสดงรายการเสียภาษีของนิติบุคคล พัฒนาระบบคืนภาษีนิติบุคคลสำหรับคืน VAT ภายใน 90 วัน
พัฒนาระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์ของศุลกากร เพื่อลดขั้นตอนการตรวจปล่อยสินค้าด้วยการส่งข้อมูลทางออนไลน์ และการจดทะเบียนทรัพย์สินของกรมที่ดิน และกรมโยธาฯเมื่อเชื่อมโยงข้อมูลกันมากขึ้น