จับกระแส “คลื่นความเปลี่ยนแปลง” ลูกใหม่ ในตลาด e-Commerce ไทย

คอลัมน์ Smart-SMEs
โดย TMB SMEs Insights

ตลาด e-Commerce ของไทยในปีที่ผ่านมาต้องบอกว่าคึกคัก เติบโตทั้งฝั่งผู้ซื้อและผู้ขาย รวมทั้งจำนวนแพลตฟอร์มที่เพิ่มขึ้น โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EDTA เผยว่า มูลค่า e-Commerce ของไทยโตต่อเนื่องสูงถึง 3.2 ล้านล้านบาทในปี 2561

ด้วยระบบ e-Commerce ecosystem ที่เอื้ออำนวย ทั้งการชำระเงินที่ปลอดภัย โปรโมชั่นที่ดึงดูดใจ การจัดส่งของที่รวดเร็ว ร้านค้าออนไลน์ที่น่าเชื่อถือ อีกทั้งผู้ให้บริการ e-Commerce ยักษ์ใหญ่อย่าง Lazada และ Shopee ก็ขยันทำ flash sale อย่างต่อเนื่อง และยังไม่นับรวมถึงการเชื้อเชิญบรรดาผู้ขายมาลดกระหน่ำในช่วงเทศกาลช็อปปิ้งแห่งปี เช่น 11.11 12.12 ฯลฯ เพื่อกระตุ้นตลาดการซื้อขายออนไลน์ให้เติบโตแบบก้าวกระโดด จึงเป็นโอกาสทองของ SMEs ไทย หากคิดจะยึดตลาด e-Commerce ในการทำเงินอย่างยั่งยืน

แต่ผู้ประกอบการที่ค้าขายอยู่บนโลกออนไลน์ต่างรู้ดีว่า ผู้เล่นในตลาด e-Commerce ประเทศไทย ไม่ได้มีเฉพาะผู้ประกอบการไทยเท่านั้น ยังมีกลุ่มผู้ประกอบการจีนรวมอยู่ด้วย โดยใช้สินค้าราคาถูกเป็นกลยุทธ์ในการขายบางชิ้นมีราคาต่ำกว่า 10 บาทด้วยซ้ำ แต่ผู้ซื้ออาจต้องรอสินค้านานกว่าปกติ ประมาณ 7-10 วัน เพราะสินค้าต้องส่งมาจากประเทศจีน โอกาสจึงตกเป็นของเทรดเดอร์ชาวไทยที่มีสินค้าเหมือน ๆ กัน ราคาอาจสูงกว่านิดหน่อย แต่สินค้าพร้อมส่งทันที

อย่างไรก็ดี หากผู้ประกอบการ e-Commerce ไทย มองติดตามข่าวสารเกี่ยวกับตลาดการค้าออนไลน์ในเวลานี้ คุณอาจจะมองเห็น “คลื่นความเปลี่ยนแปลง” สองระลอกที่กำลังจะเกิดในไม่ช้า ถือเป็นความท้าทายของ SMEs ไทยอย่างมากว่าจะปรับตัวอย่างไรให้เป็น “ผู้อยู่รอด” ในท้ายที่สุด

คลื่นความเปลี่ยนแปลงระลอกแรก คือ MOU ระหว่างรัฐบาลไทย กับ นายแจ็ก หม่า ก่อนเกษียณตัวเองจากตำแหน่งประธาน Alibaba เขาได้วางแผนลงทุนสร้าง Smart Digital Hub ที่มีทั้งศูนย์โลจิสติกส์และคลังสินค้าที่ทันสมัย ในพื้นที่เขตส่งเสริมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ใกล้กับสนามบินสุวรรณภูมิ เรียกว่าใช้ประเทศไทยเราเป็นฮับของอาเซียน ในการเป็นศูนย์กระจายสินค้าเพื่อนำเข้าและส่งออกสินค้าจีนไปยังประเทศในแถบ CLMV ในระยะแรก ก่อนจะกระจายสินค้าไปสู่ทั่วโลกต่อไป

มองผิวเผินดูเหมือนประเทศไทยเราจะได้รับประโยขน์ แต่ถ้ามองอีกด้านแล้ว การที่ผู้ประกอบการจีนสามารถขนส่งสินค้าที่ใช้สำหรับค้าขายออนไลน์มาพักเก็บไว้ที่บ้านเราได้แบบสบาย ๆ นั่นเท่ากับว่า “กำแพง” ของการซื้อสินค้าจากจีนที่คนไทยเคยมองว่าล่าช้า รอนาน จะหายไปในพริบตา สินค้าที่จัดส่งตามออร์เดอร์จากเดิม 7-10 วัน จะใช้เวลาเหลือเพียง 1-3 วันเท่านั้น

คนที่ได้รับผลกระทบเต็ม ๆ จากคลื่นระลอกนี้ หนีไม่พ้นกลุ่มเทรดเดอร์ที่นำเข้าสินค้ามาจากจีน ซึ่งดันเป็นสินค้าที่เหมือนกันเสียด้วย เมื่อไม่มีความแตกต่างมาสร้างความได้เปรียบ SMEs กลุ่มนี้จะแข่งขันอย่างไร เมื่อผู้ประกอบการจีนมาเคาะประตูขายถึงหน้าบ้าน ด้วยต้นทุนสินค้าที่ถูกกว่า และการขนส่งที่รวดเร็วไม่ต่างจากผู้ประกอบการไทย

คลื่นความเปลี่ยนแปลงที่ซัดมาซ้ำอีกระลอก คือ ขณะนี้ประเทศจีนกำลังขยาย e-Commerce park ไปทั่วประเทศ ปัจจุบันทราบว่ามีปาร์กลักษณะนี้อยู่ในจีนเกือบ 2,000 แห่ง พื้นที่ที่มีปาร์กมากที่สุด คือ หางโจว ซึ่งเป็นพื้นที่ของ Alibaba โดยในแต่ละปาร์กได้สร้างระบบ e-Commerce ecosystem ไว้รองรับอย่างเพียบพร้อม ปาร์กไหนผลิตอะไร เช่น ผลิตรองเท้า โทรศัพท์มือถือ ก็จะมีไลน์ผลิตสินค้าที่เป็นซัพพลายรองรับไว้พร้อมภายในปาร์ก โดยผู้ประกอบการสามารถทำธุรกิจอยู่ที่นั่นได้เลย หากขาดความรู้ know how ก็มีคอร์สสอนการทำธุรกิจให้ลงเรียน ขาดเงินทุน ก็สามารถเอาใบปริญญาที่เรียนสำเร็จในปาร์กไปเป็นหลักฐานกู้ธนาคารได้สูงสุดถึง 5 แสนหยวน

เหตุผลหลักที่รัฐบาลจีนลงทุนทำ e-Commerce park เห็นว่าต้องการสร้างจุดเด่น และลบจุดด้อยของผลิตภัณฑ์จีน ที่ถูกสบประมาทมาตลอดว่า “สินค้าจีนไม่มีคุณภาพ” จึงได้ลงทุนกับ R&D และซัพพลายวัตถุดิบทุกอย่างไว้ในปาร์ก เพื่อทำให้สินค้ามีคุณภาพดีที่สุด ขณะเดียวกันก็มีต้นทุนต่ำที่สุด จากนั้นก็เน้นผลิตสินค้าออกมาคราวละมาก ๆ

ด้วยเหตุนี้ สินค้าที่ซื้อจากจีนในปัจจุบันจึงมีคุณภาพ และราคาถูกมากอย่างเหลือเชื่อ เมื่อประกอบกับการเตรียมลงทุนศูนย์กระจายสินค้าในประเทศไทย จึงนับเป็นโจทย์ใหญ่ของ SMEs ไทยที่กำลังแข่งขันในตลาด e-Commerce และกลุ่มผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่เตรียมจะกระโดดเข้าสู่โลกออนไลน์อย่างยิ่ง ว่าจะคิดหาวิธีเอาตัวรอด อย่างไรในยุคที่กำไรจากส่วนต่างหายไป การจัดหาสินค้าก็ยากขึ้น ครั้นจะขายสินค้าเหมือน ๆ กัน ก็หนีไม่พ้นสงครามราคาที่มีแต่แพ้กับแพ้เท่านั้น สิ่งเดียวที่จะทำให้ SMEs ไทยรอดได้ คือ การสร้างจุดเด่นและจุดต่างให้กับสินค้าของตนเอง

แต่จะทำอย่างไรได้บ้างนั้น สามารถติดตามได้ในบทความต่อไป