“มูลค่าออกหุ้นกู้ต่อวัน” ฮวบ ThaiBMA ชี้เอฟเฟ็กต์รีดภาษี

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยเปิดข้อมูล 1 เดือน มูลค่าเอกชนออกหุ้นกู้ต่อวันฮวบเหลือเฉลี่ยวันละ 2 พันล้านบาท หลังเก็บภาษีการลงทุนตราสารหนี้ในกองทุนรวม 15% จากก่อนหน้านี้ หุ้นกู้ระยะยาวพุ่งวันละกว่า 7 พันล้านบาท “ThaiBMA-TMB Analytics” เก็ง กนง.ลดดอกเบี้ยอีกครั้งปลายปีนี้

นายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ได้ติดตามสถานการณ์การออกหุ้นกู้ หรือตราสารหนี้ของภาคเอกชน ช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา (20 ส.ค.-22 ก.ย.) หลังจากทางการเริ่มจัดเก็บภาษีการลงทุนตราสารหนี้ในกองทุนรวม โดยหัก ณ ที่จ่าย 15% (มีผลตั้งแต่วันที่ 20 ส.ค. 2562) ซึ่งในเบื้องต้นพบว่า มูลค่าการออกตราสารหนี้เฉลี่ยต่อวันลดลงไป

โดยเฉพาะตราสารหนี้ระยะยาว (long term bonds) ที่เหลือเฉลี่ยวันละ 2,193 ล้านบาท ในช่วง 1 เดือน จากก่อนหน้านั้นช่วงครึ่งปีแรก (1 ม.ค.-30 มิ.ย. 2562) มีมูลค่าเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 5,381 ล้านบาท และช่วง 1 เดือนเศษก่อนเริ่มเก็บภาษี (1 ก.ค.-19 ส.ค. 2562) มูลค่าการออกต่อวันเพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ยวันละ 7,748 ล้านบาท

ขณะที่ตราสารหนี้ระยะสั้น (short term bonds) ช่วง 1 เดือนหลังเริ่มเก็บภาษี มูลค่าการออกเฉลี่ยต่อวันลดเหลือวันละ 2,096 ล้านบาท จากที่ก่อนหน้านั้น ช่วงครึ่งปีแรก มูลค่าเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 3,095 ล้านบาท และช่วง 1 เดือนเศษก่อนเริ่มเก็บภาษี มูลค่าการออกต่อวันเพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ยวันละ 3,500 ล้านบาท

“1 เดือนที่ผ่านมา มูลค่าการออกบอนด์ลดลงไปจากช่วงก่อน 20 ส.ค. ที่มีการออกบอนด์กันมาก โดยเฉพาะวันแรกที่เริ่มเก็บภาษี วันนั้น บอนด์ระยะสั้นมูลค่าการออกเป็นศูนย์เลย จากนั้นก็เหลือวันละ 2,000-3,000 ล้านบาท ส่วนบอนด์ระยะยาวก็หายไปมาก โดยเฉพาะพวกรายใหญ่ ๆ ดูเหมือนว่าตลาดเงียบลงไปเยอะ เหลือแต่รายที่ออกทีละ 300-500 ล้านบาท ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะมีการเร่งออกไปก่อนจะเก็บภาษี”

ทั้งนี้ สมาคมยังต้องติดตามสถานการณ์ผลกระทบต่อตลาดตราสารหนี้ต่อไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อให้ได้ข้อมูลมากขึ้น โดยจะดูในแง่ผลกระทบต่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยีลด์) ด้วย ซึ่งขณะนี้ยังเห็นไม่ชัดเจน

“แม้จะเป็นการเก็บภาษีการลงทุนตราสารหนี้ในกองทุนรวม แต่ก็คงต้องติดตามดูต่อไปว่า เมื่อดีมานด์ (ความต้องการซื้อ) จากกองทุนรวมลดลงไป จะกระทบการออกหุ้นกู้ในภาพรวมแค่ไหน”

นายธาดากล่าวด้วยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจขณะนี้ โดยเฉพาะสถานการณ์การแข็งค่าของเงินบาทถือว่าเป็นแรงกดดันมากพอสมควร ในการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจต้องลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีกในปีนี้ เพียงแต่ในการประชุม 25 ก.ย.นี้ ส่วนใหญ่ยังมองกันว่าไม่น่าจะลดดอกเบี้ยในรอบนี้

นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี (TMB Analytics) กล่าวว่า รอบนี้ กนง.คงยังไม่ลดดอกเบี้ย เพราะเพิ่งลดไป โดยน่าจะยังรอดูสถานการณ์ทางเศรษฐกิจต่อไปอีกระยะ แต่คาดว่าภายในปีนี้น่าจะมีการลดดอกเบี้ยลงอีกครั้งในรอบเดือน พ.ย. หรือ ธ.ค.