คปภ.ชูตั้งบอร์ดประกันเกษตร ลดเสี่ยงภัยน้ำท่วม-ดึงรองนายกฯร่วมวง

คปภ.ดันตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประกันภัยพืชผล ดึงรองนายกฯด้านเศรษฐกิจนั่งประธาน เร่งแก้ปัญหาระยะยาวให้เกษตรกรป้องกันความเสี่ยงภัยธรรมชาติซ้ำซาก หลังปี’59-60 เกษตรกรภาคใต้-อีสานเจอพิษน้ำท่วมอ่วม เดินหน้าร่าง พ.ร.บ.ประกันภัยการเกษตรเป็นกฎหมายเฉพาะเพื่อแก้ปัญหาเบ็ดเสร็จเหมือนต่างประเทศ

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการปฏิรูประบบประกันภัยการเกษตรนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างที่ทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง ดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประกันภัยการเกษตร รวมถึงจะมีการเสนอร่างพระราชบัญญัติการประกันภัยการเกษตร เพื่อเป็นกฎหมายเฉพาะ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาระยะยาวให้กับเกษตรกรชาวนาไทย ที่ต้องเผชิญกับอุทกภัยหรือฝนตกหนัก ภัยแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุ อากาศหนาว อัคคีภัย และศัตรูพืชระบาด

“ภัยธรรมชาติเหล่านี้เกิดซ้ำซากทุกปี แต่ปัจจุบันยังใช้วิธีแก้ปัญหาแบบระยะสั้นปีต่อปี” นายสุทธิพลกล่าว

สุทธิพล ทวีชัยการ

นายสุทธิพลกล่าวว่า อย่างในปี 2560 นี้ ก็เช่นเดียวกันที่ประเทศไทยเผชิญวิกฤตน้ำท่วมอย่างหนักในพื้นที่ภาคอีสาน โดยเฉพาะจังหวัดสกลนคร ร้อยเอ็ด นครพนม ฯลฯ ส่งผลให้พื้นที่รับประกันภัยข้าวนาปีได้รับความเสียหายกว่า 4 ล้านไร่ ในจำนวนนี้เป็นสมาชิกกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 2 ล้านไร่ มูลค่าความเสียหายกว่า 1,000 ล้านบาท อัตราค่าสินไหมทดแทน (loss ratio) สูงกว่า 60%

นอกจากนี้ ย้อนไปเมื่อปี 2559 ที่ภาคใต้ประสบอุทกภัย ก็มีความเสียหายค่อนข้างมากเช่นกัน อย่างเช่น จังหวัดสงขลาที่มีพื้นที่ได้รับความเสียหายกว่า 1,442 ไร่ โดยเฉพาะอำเภอระโนดเสียหายกว่า 1,357 ไร่ คิดเป็นสัดส่วน 95.6% ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งจังหวัด

นายสุทธิพลกล่าวว่า ที่ผ่านมาสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่ตนเป็นสมาชิกอยู่ด้วย ได้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผลักดันให้การประกันภัยพืชผล เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งได้รับความเห็นชอบ และอยู่ระหว่างดำเนินการตามแนวทางแก้ปัญหาที่ สปท.เสนอ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ 1) ระยะสั้น เร่งจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนปฏิรูปการประกันภัยพืชผล โดยให้รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจเป็นประธานคณะกรรมการ พร้อมมอบหมายให้กระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องบูรณาการกำหนดนโยบายร่วมกัน ไม่ใช่เฉพาะประกันข้าวนาปี แต่จะต้องบริหารความเสี่ยงไปยังพืชผลทางการเกษตรอื่น ๆ อีกด้วย

“นอกจากนี้ ยังต้องจัดตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนปฏิรูปการประกันภัยพืชผลในระดับจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานคณะกรรมการ ซึ่งทาง คปภ.จะเข้าไปเป็นฝ่ายเลขานุการประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ” นายสุทธิพลกล่าว

2) ระยะปานกลาง เร่งขยายพื้นที่เอาประกันภัยข้าวนาปีให้ครอบคลุมทุกพื้นที่มากขึ้น เพื่อกระจายความเสี่ยงไปยังผู้รับประกันภัยต่อ (รีอินชัวเรอร์ส) มากขึ้น รวมถึงเพิ่มจำนวนเกษตรกรให้กลับมาซื้อกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปีทุก ๆ ปี และ 3) ระยะยาว ภายในระยะเวลา 10 ปี ต้องนำเทคโนโลยีทางด้านวิทยาศาสตร์สมัยใหม่มาช่วยกำหนดเกณฑ์การจ่ายค่าสินไหมทดแทน อย่างเช่น ดัชนีน้ำฝน ซึ่งเป็นมาตรฐานสากล สอดคล้องกับแนวทางการศึกษาของธนาคารโลก (World Bank) จากปัจจุบันที่จะจ่ายสินไหมทดแทนเมื่อมีการประกาศภาวะภัยพิบัติฉุกเฉิน โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเท่านั้น

ส่วนการแก้ปัญหาทั้งระบบในระยะยาว ได้มีการเสนอออกพระราชบัญญัติการประกันภัยการเกษตร เป็นกฎหมายเฉพาะเพื่อดูแลเรื่องนี้เช่นเดียวกับในหลายประเทศ อาทิ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์ เป็นต้น ซึ่งแต่ละประเทศจะมีกฎหมายเฉพาะในการรับประกันภัยพืชผลทางการเกษตร ที่รวมถึงการประกันภัยประมง และการประกันภัยปศุสัตว์ด้วย