ซิตี้ผนึกแกร็บเปิดตัวบัตรเครดิต “Citi-Grab” ปั้นลูกค้ารายใหม่-หวังโตสองหลัก

นางวีระอนงค์ จิระนคร ภู่ตระกูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบุคคลธนกิจ ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า ปีนี้คาดว่ายอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต(สเปนดิ้ง) จะเติบโตเป็นสองหลัก เช่นเดียวการอนุมัติบัตรใหม่ของธนาคาร หลังจากผ่านมา 3 ไตรมาส (ม.ค.-ก.ย.) มีจำนวนบัตรเครดิตรวมกว่า 1 ล้านใบ ฐานลูกค้าบัตรเครดิตรายได้ตั้งแต่ 15,000 บาทต่อเดือน ซึ่งมีอัตราการเติบโตอยู่ในระดับสองหลักมาต่อเนื่องทั้งธุรกิจในประเทศไทยและต่างประเทศ ซึ่งเป็นเพราะธนาคารมุ่งเน้นตอบโจทย์สิ่งที่ลูกค้าต้องการ

โดยหมวดสำคัญของบัตรเครดิตซิตี้ยังคงเป็นการใช้จ่ายผ่านหมวดร้านอาหารและช้อปปิ้งที่มีการเติบโตต่อเนื่อง ทั้งการใช้จ่ายผ่านห้างสรรพสินค้า และโดยเฉพาะช่องทางออนไลน์ที่เติบโตก้าวกระโดดอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากไลฟ์สไตล์ลูกค้าอยู่ในออนไลน์มากขึ้นจากการที่ได้รับความสะดวกสบาย

ดังนั้นธนาคารจึงได้ร่วมมือกับแกร๊บเปิดตัวบัตรเครดิตโคแบรนด์เป็นครั้งแรกภายใต้ชื่อ “Citi-Grab” (ซิตี้แกร็บ) เพื่อเจาะตลาดไลฟ์สไตล์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นเซ็กเมนต์ที่มีมูลค่าสูง โดยไทยเป็นประเทศที่ 2 ต่อจากประเทศฟิลิปปินส์ ที่เปิดไปเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดีการเป็นพันธมิตรในครั้งนี้จะเป็นการช่วยให้ประเทศไทยเดินหน้าสู่สังคมไร้เงินสดสอดคล้องกับการเข้าสู่ยุคดิจิทัลของประเทศ โดยสิทธิพิเศษของบัตรเครดิตซิตี้แกร็บ ได้แก่

1.อัพเกรดเป็นแกร็บแพลตินัมโดยอัตโนมัติ เพื่อรับสิทธิพิเศษในการจองบริการต่างๆ ในลำดับแรกและและบริการลูกค้าสัมพันธ์โดยเฉพาะลูกค้าแกร็บแพลตินัม

2.คุ้มค่ากว่าที่เคยด้วยการรับคะแนนสะสม 10 เท่าทุกครั้งที่ใช้บริการแกร็บ รับคะแนนสะสม 3 เท่าเมื่อใช้บัตรฯที่ร้านอาหาร อีคอมเมิร์ซ หรือสมัครบริการออนไลน์รายเดือน และรับคะแนนสะสม 1 แต้มเมื่อใช้จ่ายทุก 25 บาท สมาชิกบัตรยังสามารถได้รับส่วนลด 10% ทันทีเมื่อจองที่พักทั่วโลกผ่านอโกด้าระหว่างวันที่ 1 ต.ค.62-31 มี.ค.63

3.สมัครวันนี้รับคืน 3,000 บาท (เงินสด 1,000 บาทและส่วนลดจากแกร็บมูลค่า 2,000 บาท) เมื่อใช้จ่ายผ่านบัตรครบ 3,000 บาทและมีการใช้บริการแกร็บ 3 ครั้งภายใน 30 วันแรกหลังจากบัตรได้รับการอนุมัติ นอกจากนี้ยังมีการยกเว้นค่าธรรมเนียมให้ทั้งบัตรหลักและบัตรเสริมในปีแรกอีกด้วย

4.สะดวกสบายมากขึ้นด้วยการใช้จ่ายแบบไร้เงินสด เพียงใช้คะแนนสะสมซิตี้เพื่อจ่ายค่าบริการแกร็บ (ตั้งแต่มกราคมปีหน้าเป็นต้นไป) นอกจากสิทธิประโยชน์จากแกร็บแล้วยังได้รับความคุ้มค่าจากบัตรเครดิตซิตี้อีกด้วย เช่น ส่วนลดร้านอาหารที่ร่วมรายการกว่า 1,000 ร้าน หรือรับเงินสดคืนจากห้างสรรพสินค้าชั้นนำ

“สิ่งสำคัญคือคนใช้ชีวิตออนไลน์มากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะช้อปปิ้งอย่างเดียว มีทั้งส่งของ ส่งอาหาร ฉะนั้นการที่เรามีสิทธิประโยชน์ต่างๆ น่าจะตอบโจทย์ลูกค้าได้จริงๆ โดยเฉพาะลูกค้าของเราที่ใช้บริการ Grab อยู่แล้ว จะได้ On-Top เลยทันที และหวังว่าลูกค้าใหม่จะหันมาเป็นสมาชิกกับเรา ซึ่งคาดว่าการทำงานร่วมกันครั้งนี้จะช่วยเพิ่มจำนวนลูกค้าบัตรใหม่ของเราได้มากขึ้นแน่นอน”

ส่วนเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เข้มงวดขึ้นในการกำกับการปล่อยสินเชื่อนั้น นางวีระอนงค์ กล่าวว่า ไม่ค่อนกังวลเพราะแม้ว่าธนาคารจะให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิประโยชน์ของลูกค้า แต่ขณะเดียวกันธนาคารเองก็มีความรับผิดชอบในการอนุมัติบัตรเพื่อไม่ให้เป็นการสร้างภาระหนี้กับลูกค้า โดยธนาคารจะพิจารณาจากสถานะเครดิตและความพร้อมของลูกค้าเพื่อให้ลูกค้าใช้บัตรอย่างเป็นประโยชน์ที่สุด ซึ่งปัจจุบันยอดการอนุมัติบัตรยังอยู่ในระดับเกินกว่า 50%

นอกจากนี้มาตรการผ่อน 0% เชื่อว่าทุกธนาคารมีอยู่แล้วอาจจะไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งในพอร์ตของธนาคารเองอาจจะไม่ได้เป็นส่วนสำคัญ เป็นเพียงหนึ่งในฟีเจอร์เท่านั้น โดยหลักๆ ตอนนี้ลูกค้าจะนิยมผ่อนสินค้าและบริการ อาทิ จ่ายค่ารักษาในโรงพยาบาล, ตกแต่งบ้าน, มือถือ เป็นต้น ทั้งนี้สำหรับการผ่อนสินค้าฟุ่มเฟือยนั้นขณะนี้ธนาคารอาจจะต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง

ส่วนประเด็นที่เครดิตบูโรรายงานว่าเริ่มเห็นการอนุมัติบัตรให้แก่กลุ่มลูกค้าเจนแซด(Gen-Z) โผล่เข้ามาในระบบมากขึ้นจนกังวลว่าอาจจะทำให้เกิดการสร้างหนี้เกินตัวนั้น มองว่า ขณะนี้ธนาคารพยายามสื่อสารให้ลูกค้ากลุ่มนี้ที่ได้รับการอนุมัติบัตรมีการใช้บัตรที่ถูกต้องและได้ประโยชน์สูงสุด ได้ลดค่าใช้จ่ายหรือได้สิทธิประโยชน์ที่มากกว่า รวมถึงการที่ธนาคารออกบัตรเครดิต Citi-Grab ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้ก็เป็น Big User แน่นอน เพราะเป็นกลุ่มแรกที่อินกับโลกออนไลน์ ใช้โมบายแอปพลิเคชั่นอย่างจริงจังมากกว่าเซกเม้นท์อื่นๆ แต่เชื่อว่าสิทธิประโยชน์ที่ธนาคารและแกร๊บมอบให้น่าจะทำให้ลูกค้ากลุ่มนี้เข้าใจว่าจะใช้บัตรอย่างไรให้ถูกต้อง ซึ่งน่าเป็นห่วงหรือไม่นั้นอาจจะต้องพยายามสื่อสารกับลูกค้ากลุ่มนี้ตลอดเวลา

นายธรินทร์ ธนียวัน กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร๊บ ประเทศไทย กล่าวว่า กลยุทธ์ของแกร๊บในปีนี้วางไว้เป็น EveryDay App โดยปัจจุบันแกร๊บไม่ได้เป็นเพียงแค่ซูเปอร์แอปสำหรับบริการเดินทางและการส่งของเท่านั้น แต่เป็นแอปพลิเคชั่นที่ผู้บริโภคใช้ได้ทุกวันไม่ว่าจะต้องการบริการรับ-ส่ง สั่งอาหาร หรือการทำธุระด้านอื่น ซึ่งตั้งแต่เปิดให้บริการมาในประเทศไทย ให้บริการการเดินทางไปแล้วมากกว่า 320 ล้านเที่ยว