“แบงก์-ธปท.” มองต่างมุม ชะลอ/เลิก “ผ่อน 0%” สกัดกู้เกินตัว

สถานการณ์เกี่ยวกับหนี้ครัวเรือนในช่วงไม่กี่สัปดาห์นี้ มีหลากหลายประเด็นที่น่าสนใจเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นการที่ “สุรพล โอภาสเสถียร” ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) ออกมาเปิดเผยว่า มีข้อมูลของเครดิตบูโรในช่วงไตรมาส 2 ปี 2562 ที่ผ่านมา เริ่มเห็นสัญญาณการอนุมัติบัตรเครดิตใหม่ในกลุ่มลูกค้าที่เรียกว่า generation Z หรือผู้มีอายุประมาณ 20-22 ปี เข้ามาในระบบมากพอสมควร จากปกติที่จะเห็นแต่กลุ่ม gen Y กับ gen X เป็นหลัก

“ทำให้ตั้งข้อสังเกตว่า คนอายุ 20-22 ปีทำไมถึงผ่านการอนุมัติ แต่ยอมรับว่าคนสมัยนี้สามารถหารายได้จากทำงานอาชีพอิสระได้ เช่น ขายของออนไลน์ เป็นต้น ซึ่งปกติก็น่าจะได้รับอนุมัติบัตรใหม่ใบเดียว เพราะเป็นใบแรก โดยสิ่งที่น่ากังวลและกลัว ก็คือ หากคนอายุน้อยเกิดค้างชำระหนี้ ซึ่งอาจจะต้องดูความสามารถในการจ่ายสักไตรมาสหนึ่งก่อน”

ฐากร ปิยะพันธ์ – วิรไท สันติประภพ

ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร ชี้ว่า หากจะควบคุมด้วยการเข้มงวดเรื่อง “การตรวจสอบรายได้” ก็น่าจะช่วยชะลอการก่อหนี้ได้ แต่ก็ต้องคำนึงด้วยว่า ไม่ใช่คนทุกกลุ่มที่มีปัญหา แต่มีเฉพาะคน 3 กลุ่มที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นห่วง คือ กลุ่มวัยเริ่มทำงาน (first jobber) ที่อายุน้อย, กลุ่มวัยใกล้เกษียณ อายุประมาณ 55 ปีขึ้นไปที่หนี้ไม่ลดลง และกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท

ขณะเดียวกันช่วงที่ผ่านมา ธปท. ในฐานะหน่วยงานผู้กำกับ ได้โยนหินถามทางถึงการ “ลด/เลิก” แคมเปญ “ผ่อน 0%” ในกลุ่มลูกค้าที่มีความเปราะบางออกไปสู่สาธารณะ

จนกลายเป็นประเด็นร้อนฉ่าในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต้องออกมาแสดงความคิดเห็นกันต่อเนื่อง ทั้งธนาคารพาณิชย์และผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (น็อนแบงก์)

อย่างเสียงสะท้อนจาก “ฐากร ปิยะพันธ์” ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ในฐานะประธานชมรมธุรกิจบัตรเครดิต สมาคมธนาคารไทย ที่ยืนยันชัดเจนว่า การทำแคมเปญ “ผ่อน 0% เลิกไม่ได้” เนื่องจากในความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นคนที่มีเงินมากหรือมีเงินน้อย ไม่ว่าจะซื้อโทรศัพท์มือถือ ซื้อประกัน ฯลฯ ก็ล้วนใช้วิธีการผ่อนชำระกันทั้งสิ้น ซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการล้วนใช้การผ่อน 0% เป็น “กลยุทธ์ทางการตลาด” กระทั่งโปรแกรมการผ่อนเป็นตัวช่วยสร้างยอดขายถึง 40-50%

“ฐากร” เห็นว่า หากหยุดให้มีผ่อน 0% ก็จะกระทบธุรกิจและเศรษฐกิจในภาพรวม พร้อมให้ข้อเสนอแนะว่า การแก้ปัญหาควรจะโฟกัสอย่างตรงจุด โดยใช้การควบคุมดูแลกลุ่มผู้กู้ที่อ่อนไหว เหมือนอย่างที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ส่งสัญญาณว่าจะคุมภาระหนี้ต่อรายได้ (DSR) ที่ 70% ซึ่งมีการขอความร่วมมือสถาบันการเงินมา และทางกรุงศรีฯก็จะเริ่มดำเนินการคุม DSR ที่ 70% ตั้งแต่ต้นปี 2563 เป็นต้นไป

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด “วิรไท สันติประภพ” ผู้ว่าการ ธปท. ชี้แจงถึงประเด็นร้อนนี้ว่า ในเรื่องผ่อน 0% มีความเข้าใจกันคลาดเคลื่อน โดยยืนยันว่า ธปท.ไม่ได้เข้าไปควบคุม หรือบังคับเรื่องการทำโปรโมชั่น แต่จะส่งเสริมให้สถาบันการเงินให้ความสำคัญในการปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบมากกว่า

“เราคุยกับสถาบันการเงินอยู่ อยากให้สถาบันการเงินถามตัวเองว่า วิธีการทำธุรกิจสร้างผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ให้กับสังคมหรือไม่ และการที่สถาบันการเงินได้มาร่วมกันลงนามในแนวปฏิบัติการปล่อยสินเชื่อรับผิดรับชอบ ซึ่งตัวอย่างเรื่องโปรโมชั่นบัตรเครดิต 0% ก็เป็นเรื่องที่พูดคุยกัน”

โดย “วิรไท” อธิบายว่า การจัดโปรโมชั่นผ่อน 0% สำหรับบริการที่เป็นความจำเป็นของประชาชนคง “ไม่ใช่เรื่องที่ผิด” อย่างเช่น ค่ารักษาพยาบาล หรือซื้อสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการประกอบอาชีพ เป็นต้น อย่างไรก็ดี ธปท.มีข้อมูลพบว่า สถาบันการเงินบางแห่งมุ่งไปยังกลุ่มผู้ที่เพิ่งเริ่มต้นทำงาน จนทำให้เกิดการแข่งขันกันส่งเสริมการใช้จ่ายที่ไม่เหมาะสมหรือไม่จำเป็น อย่างการส่งเสริมการท่องเที่ยวต่างประเทศด้วยโปรโมชั่น 0% ก็เป็นสิ่งที่ ธปท.ยกตัวอย่างมาพูดคุยร่วมกับสถาบันการเงิน เนื่องจากโปรโมชั่นเหล่านี้อาจไปซ้ำเติมส่งผลให้เกิดหนี้ครัวเรือนในระยะยาว ซึ่งจะมีผลเสียกลับมาที่ตัวสถาบันการเงินเองด้วย

“อย่างไรก็ดี โปรโมชั่น 0% เป็นการดำเนินการในรูปแบบการทำธุรกิจ และที่เราได้ยินเรื่อง 0% จริง ๆ ไม่มีฟรี สถาบันการเงินก็ต้องทำกำไร หากส่งเสริมให้ประชาชนใช้โปรโมชั่นดังกล่าวมาก ๆ อาจจะมีประชาชนที่ไม่มีความสามารถในการผ่อน จนกลายเป็นหนี้เสีย ต้องโดนดอกเบี้ยปรับแพงมาก ซึ่งสถาบันการเงินก็ได้เบี้ยปรับมาชดเชยการเงินช่วงแรก เหมือนการตกเหยื่อให้คนมาติดเบ็ด จึงเป็นเรื่องที่ต้องกลับมาตั้งคำถามว่าเป็นเรื่องที่เหมาะสมหรือไม่”


สุดท้ายแล้ว ยังคง “มองต่างมุม” กันอยู่ คงต้องติดตามกันต่อไปว่าประเด็นเหล่านี้จะคลี่คลายไปในทางใด