ดอลลาร์อ่อนค่าหลังตัวเลขการจ้างงานขยายตัวช้า ตลาดจับตาการขึ้นภาษี EU

ภาพประกอบข่าวดอลลาร์สหรัฐ
แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคม 2562 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (3/10) ที่ระดับ 30.60/62 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (2/10) ที่ระดับ 30.65/67 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลง หลังเมื่อวาน (2/10) มีรายงานออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) และมูดี้ส์ อนาลิติกส์ ซึ่งเปิดเผยว่าการจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียง 135,000 ตำแหน่งในเดือนกันยายน ต่ำกว่าระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 140,000 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในระดับที่ต่ำที่สุดตั้งแต่เดือนมิถุนายน

อย่างไรก็ตาม เมื่อวานนายจอห์น วิลเลียมส์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์กได้แสดงความเห็นเมื่อวานนี้ (2/10) ว่า แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐยังคงอยู่ในระดับที่น่าพอใจ พร้อมปฏิเสธกระแสความวิตกกังวลในตลาดที่ว่า เศรษฐกิจสหรัฐกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ขยายตัวราวร้อยละ 2 ขณะที่ตลาดแรงงานมีความแข็งแกร่งมาก และอัตราเงินเฟ้อกำลังเคลื่อนตัวใกล้ระดับร้อยละ 2 อย่างไรก็ดี นายวิลเลียมส์ กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง รวมทั้งข้อพิพาทการค้าและความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์นั้น เป็นปัจจัยที่ทำให้ความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น และส่งผลกระทบต่อการลงทุนในภาคเอกชน ขณะที่การค้าระหว่างประเทศก็ชะลอตัวลงด้วย อย่างไรก็ดี นักลงทุนกำลังจับตามองดูตัวเลขทางเศรษฐกิจสหรัฐ ที่จะเปิดเผยในคืนนี้ (3/10) และคืนวันศุกร์ (4/10) ซึ่งประกอบด้วยยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนสิงหาคม, ดุลการค้าเดือนสิงหาคม และตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนกันยายน โดยตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ได้กล่าวมาจะแสดงถึงสภาพของเศรษฐกิจสหรัฐในปัจจุบัน ซึ่งนักลงทุนมีความกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยเฉพาะหลังจากการที่มีการรายงานในวันอังคารที่ผ่านมา (1/10) ว่า ดัชนีภาคการผลิตของหสรัฐปรับตัวลดลงสู่ระดับ 47.8 ในเดือนกันยายน ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำสุดในรอบ 10 ปี ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 30.56-30.63 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 30.55/57 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (3/10) ที่ระดับ 1.0960/62 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (2/10) ที่ระดับ 1.0917 ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินยูโรปรับตัวแข็งค่าขึ้นสวนทางกับเงินดลลลาร์สหรัฐ หลังตัวเลขการจ้างงานสหรัฐ ออกมาอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ แม้ว่าเมื่อวาน (2/10) Ifo ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐิจขอเยอรมนี ได้ประกาศปรับลดตัวเลขคาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของเยอรมนีในปีนี้ สู่ระดับร้อยละ 0.5 จากเดิมที่ระดับร้อยละ 0.8 และปรับลดตัวเลขคาดการณ์ GDP ในปีหน้า สู่ระดับร้อยละ 1.1 จากเดิมที่ระดับร้อยละ 1.8

นอกจากนี้เมื่อวาน (2/10) องค์การการค้าโลก (WTO) ได้ลงมติเห็นชอบต่อข้อเรียกร้องของสหรับในการเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากยุโรป วงเงิน 7.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมาจากการที่รัฐบาลสหรัฐอาณาจักร เยอรมนี ฝรั่งเศส และสเปน ให้การอุดหนุนอย่างผิดกฎหมายต่อบริษัทแอร์บัส และสหภาพยุโรปได้ปฏิเสธที่จะดำเนินการเพื่อบรรเทาผลกระทบจากมาตรการให้การอุดหนุนแอร์บัส หรือยกเลิกมาตรการดังกล่าว ซึ่งการกระทำดังกล่าวส่งผลกระทบรุนแรงต่อผลประโยชน์ของสหรัฐ จากการที่ยอดขายของเครื่องบินขนาดใหญ่ขอสหรัฐ ทรุดตัวลงอย่างมาก โดยหลังจาก WTO ได้ประกาศผลการตัดสิน สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ออกแถลงการณ์เมื่อคืน (2/10) ว่า รัฐบาลสหรัฐวางแผนที่จะปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าสินค้าจากสหภาพยุโรปในอัตราร้อยละ 10 สำหรับเครื่อบินพลเรือนขนาดใหญ่และร้อยละ 25 สำหรับสินค้าเกษตรและสินค้าประเภทอื่น ๆ

ขณะที่นางเรซิเลีย มัลสตรอม ประธานคณะกรรมาธิการการค้าของสหภาพยุโรป (EU) กล่าวว่า สหภาพยุโรป พร้อมจะตอบโต้สหรัฐ หากสหรัฐเรียกเก็บภาษีต่อสินค้านำเข้าจากยุโรปตามคำตัดสินขององค์การการค้าโลก (WTO) พร้อมกับกล่าวว่า การดำเนินมาตรการตอบดต้กันระหว่าง สหภาพยุโรป และสหรัฐ จะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและประชาชนจากทั้งสองฝ่าย ขณะที่สหภาพยุโรปและสหรัฐต่างมีความผิดเหมือนกันจากการที่ สหภาพยุโรปอุดหนุนแอร์บัส และสหรัฐอุดหนุนโบอิ้ง ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0939-1.0973 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0958/60 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (3/10) ที่ระดับ 107.05/07 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (2/10) ที่ระดับ 107.60/62 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ เงินเยน
แข็งค่าขึ้นในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยหลังจากมีรายงานว่าการจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียง 135,000 ตำแหน่ง ในเดือนกันยายน ต่ำกว่าระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ และองค์การการค้าโลก (WTO) ลงมติเห็นชอบต่อข้อเรียกร้องของสหรัฐ ในการเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากยุโรป ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 106.95-107.29 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 107.08/10 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสิการว่างงานรายสัปดาห์ (3/10), ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนสิงหาคมของสหรัฐ (3/10), ดัชนีภาคบริการเดือนกันยายน จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) (3/10), ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนสิงหาคมของสหรัฐ (3/10), ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนกันยายนของสหรัฐ (4/10), และดุลการค้าเดือนสิงหาคมของสหรัฐ (4/10)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -1.40/-1.20 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -0.50/0.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ