บาทแข็งค่า หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐเป็นที่น่าผิดหวัง

แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราต่างประเทศ ระหว่างวันที่ 30 กันยายน-4 ตุลาคม 2562 ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันจันทร์ (30/9) ที่ระดับ 30.61/62 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (27/9) ที่ระดับ 30.63/64 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยตัวเลขทางเศรษฐกิจขอสหรัฐที่ประกาศออกมานั้นค่อนข้างเป็นที่ผิดหวัง อาทิ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขการใช้จ่ายของผู้บริโภค เพิ่มขึ้นเพียง  0.1% ในเดือน ส.ค. ต่ำว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดบ 0.3% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือน ก.ค. ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวขึ้นแตะระดับ 93.2 ในเดือน ก.ย. จากระดับ 89.8 ในเดือน ส.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 92.0 ในขณะที่ผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ระบุว่าดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐลดลงสู่ระดับ 47.8 ในเดือน ก.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2552 จากระดับ 49.1 ในเดือน ส.ค. ซึ่งดัชนีอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 บ่งชี้ภาวะหดตัวของภาคการผลิต ขณะที่ภาคธุรกิจมีความเชื่อมั่นลดลง จากความกังวลเกี่ยวกับการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่ส่งผลให้คำสั่งซื้อเพื่อการส่งออกหดตัวลงตั้งแต่เดือน ก.ค. โดยการบริโภค คำสั่งซื้อใหม่ สต๊อกสินค้าคงคลังเพื่อการส่งออกและนำเข้า หดตัวลงเช่นกัน

อย่างไรก็ดี ตลาดยังคงจับตาดูการประกาศตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรในวันนี้ (4/10) ภายหลังที่ออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) และมูดี้ส์ อนาลิติกส์ ซึ่งเปิดเผยว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียง 135,000 ตำแหน่งในเดือนกันยายน ต่ำกว่าระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 140,000 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในระดับที่ต่ำที่สุดตั้งแต่เดือนมิถุนายน ทั้งนี้นายจอห์น วิลเลียมส์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์กได้แสดงความเห็นว่า แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐยังคงอยู่ในระดับที่น่าพอใจ พร้อมปฏิเสธกระแสความวิตกกังวลในตลาดที่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ขยายตัวราวร้อยละ 2 ขณะที่ตลาดแรงงานมีความแข็งแกร่งมาก และอัตราเงินเฟ้อกำลังเคลื่อนตัวใกล้ระดับร้อยละ 2 อย่างไรก็ดี นายวิลเลียมส์กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง รวมทั้งข้อพิพาทการค้า และความตึงเครียดทางภูมิศาสตร์นั้น เป็นปัจจัยที่ทำให้ความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น และส่งผลกระทบต่อการลงทุนในภาคเอกชน ขณะที่การค้าระหว่างประเทศก็ชะลอตัวลงด้วย

นอกจากนี้องค์การการค้าโลก (WTO) ประกาศปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของการค้าโลกในปีนี้ 1.2% จากเดิม 2.6% ท่ามกลางความตึงเครียดทางการค้าที่เพิ่มขึ้น และเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ส่วนการขยายตัวของการค้าโลกในปีหน้าคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 2.7% ลดลงจากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 3.0% ในขณะที่ปัจจัยภายในประเทศนั้น อัตราเงินเฟ้อเดือนกันยายน ออกมาต่ำกว่าที่คาด โดยออกมาที่ 0.32% น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 0.44% ซึ่งตัวเลขดังกล่าว บ่งชี้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปี 2562 จะมีแนวโน้มแย่งลง ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ค่าเงินบาทมีการเคลื่อนไวในกรอบระหว่าง 30.44-30.69 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดวันศุกร์ (4/10) ที่ระดับ 30.47/49 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรเปิดตลาดวันจันทร์ (30/9) ที่ระดับ 1.0932/34 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (27/9) ที่ระดับ 1.0925/27 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนที่จะทยอยปรับตัวอ่อนค่าลงด้วยประเทศสมาชิกยูโรโนมีแนวโน้มที่จะเผชิญสภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยดัชนีราคาผู้บริโภคของเยอรมนี ออกมาอยู่ที่ 0% เมื่อเทียบเดือนก่อน ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะออกมาที่ 0.1% สะท้อนความอ่อนแอของเศรษฐกิจเยอรมนีในฐานะประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจอันดับ 1 ในกลุ่มยูโรโซน อีกทั้ง Ifo ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจของเยอรมนี ได้ประกาศปรับลดตัวเลขคาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของเยอรมนีในปีนี้ สู่ระดับร้อยละ 0.5 จากเดิมที่ระดับร้อยละ 0.8 และปรับลดตัวเลขคาดการณ์ GDP ในปีหน้า สู่ระดับร้อยละ 1.1 จากเดิมที่ระดับร้อยละ 1.8 ทั้งนี้นายมาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) กล่าวว่าควรจะมีการดำเนินมาตรการกระตุ้นทางการคลังทั่วยูโรโซน โดยตั้งเป้าไปที่การส่งเสริมการลงทุน และเรียกร้อให้รัฐบาลในยูโรโซนดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ นอกจากนี้องค์การการค้าโลก (WTO) ได้ลงมติเห็นชอบต่อข้อเรียกร้องของสหรัฐในการเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากยุโรปวงเงิน 7.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมาจากการที่รัฐบาลสหราชอาณาจักร เยอรมนี ฝรั่งเศส และสเปน ให้การอุดหนุนอย่างผิดกฎหมายต่อบริษัทแอร์บัส และสหภาพยุโรปได้ปฏิเสธที่จะดำเนินการเพื่อบรรเทาผลกระทบจากมาตรการให้การอุดหนุนแอร์บัส หรือยกเลิกมาตรการดังกล่าว ซึ่งการกระทำดังกล่าวส่งผลกระทบรุนแรงต่อผลประโยชน์ของสหรัฐ จากการที่ยอดขยของเครื่องบินขนาดใหญ่ของสหรัฐทรุดตัวลงอย่างมาก ขณะที่นางเซซิเลีย มัลสตรอม ประธานคณะกรรมาธิการการค้าของสหภาพยุโรป (EU) กล่าวว่า สหภาพยุโรป พร้อมจะตอบโต้สหรัฐ หากสหรัฐเรียกเก็บภาษีต่อสินค้านำเข้าจากยุโรปตามคำตัดสินขององค์การการค้าโลก (WTO) พร้อมกับกล่าวว่า การดำเนินมาตรการตอบโตกันระหว่าง สหภาพยุโรป และสหรัฐจะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและประชาชนจากทั้งสองฝ่าย ขณะที่สหภาพยุโรปและสหรัฐต่างมีความผิดเหมือนกันจากการที่สหภาพยุโรป อุดหนุนแอร์บัส และสหรัฐ อุดหนุนโบอิ้งทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0879-1.0999 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (4/10) ที่ระดับ 1.0973/74 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ค่าเงินเยนเปิดตลาดวันจันทร์ (30/9) ที่ระดับ 107.94/96 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (27/9) ที่ระดับ 107.89/91 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ภายหลังจากตัวเลขผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นลดลง 12% ในเดือน ส.ค. เมื่อเทียบรายเดือน มากกว่าที่ตลาดคาดว่าจะลดลงเพียง 0.5% ในเดือน ส.ค. ขณะเดียวกันการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นก่อนการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 8% เป็น 10% เมื่อวันอังคาร (1/10) ส่งผลให้ยอดค้าปลีกในเดือน ส.ค.เพิ่มขึ้น 2% เมื่อเทียบเป็นรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.7% ทั้งนี้นายยาซูโตชิ นิชิมารุ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจกล่าวว่าจะมีการจับตาดูผลกระทบของการขึ้นภาษี และอาจดำเนินมาตรการพิเศษเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหากมีความจำเป็น ในขณะที่ผลสำรวจทังกันคาดการณ์ว่าดัชนีผู้บริโภคจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.9% ต่อปีซึ่งไม่ปลี่ยนแปลงจากตัวเลขคาดการณ์เมื่อ 3 เดือนก่อน ทั้งนี้ในสัปดาห์นี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวระหว่าง 106.48-08.47 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (4/10) ที่ระดับ 106.78/79 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ