กูรูส่องหุ้นไทยลุ้นปัจจัยบวก Q4 ดันดัชนีเหนือ 1600 จุด

กูรูตลาดหุ้นลุ้นปัจจัยบวกไตรมาส 4 หนุนดัชนีขยับขึ้น สภาธุรกิจตลาดทุนเก็งเทรดวอร์ระลอกใหม่ “สหรัฐ-ยุโรป” กระทบไม่หนัก-มาตรการรัฐบาลปลุกความเชื่อมั่น ประเมินกำไร บจ.ปีนี้ยังไม่ฟื้น ขณะที่ “บล.เอเซีย พลัส” เชื่อ กนง.ลดดอกเบี้ยหนุนตลาดหุ้นปลายปี คาดกำไร บจ. ยังโตมากกว่าปีก่อน แม้ล่าสุดปรับคาดการณ์กำไรลดลง ฟาก “บล.กสิกรไทย” เชื่อสหรัฐ-จีนตกลงการค้าได้บางส่วนเดือน ต.ค.นี้ดัน SET Index เด้ง

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยว่า ช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ ตลาดหุ้นไทยอาจได้รับผลกระทบระยะสั้นจากเหตุการณ์ที่สหรัฐเตรียมเปิดศึกการค้าครั้งใหม่กับยุโรป แต่ผลกระทบคงไม่ใหญ่นัก เมื่อเทียบกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน จากการที่สหรัฐเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากยุโรป มูลค่า 7.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับมูลค่าส่งออกจากยุโรปไปยังสหรัฐที่มีมูลค่าเกือบ 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ยกเว้นแต่ว่า นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ จะอ้างความมั่นคง แล้วขึ้นภาษีรถยนต์จากยุโรป ก็อาจมีผลกระทบค่อนข้างสูง

“ตลาดหุ้นไทยจะถูกกดดันช่วงสั้น ๆ เพื่อรอความชัดเจน แต่เมื่อไม่มีความชัดเจน ความมั่นใจก็ถดถอยลงไปเป็นธรรมดา ฉะนั้นช่วงนี้เป็นช่วงที่ตลาดหุ้นไทยอาจจะซึม ๆ ยังไม่เห็นแรงขับเคลื่อนใหม่ ๆ นอกจากเศรษฐกิจโลกต้องดีขึ้น ซึ่งก็คงจะยังไม่เห็นในเร็ว ๆ นี้ จนกว่าสหรัฐกับจีนจะตกลงกันได้” นายไพบูลย์กล่าว

ขณะที่ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ปีนี้ยังไม่ฟื้น ต้องรอดูปีหน้า เพราะปีนี้คงไม่มีปัจจัยมาช่วยหนุนตลาดแล้ว แต่หวังว่าไตรมาส 4 มาตรการรัฐที่ออกมาจะได้ผล และมีสัญญาณต่างประเทศดีขึ้น ก็น่าจะทำให้ทุกอย่างฟื้นขึ้นได้ จากที่ชะลออยู่ชั่วคราว โดยเป้าดัชนีหุ้นไทยที่ทางสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA Survey) มองสิ้นปีลดเหลือ 1,677 จุด จากเดิม 1,750 จุด ก็เป็นไปตามสถานการณ์ แต่เชื่อว่าทุกคนยังมองตลาดหุ้นไทยไตรมาส 4 จะสามารถปรับขึ้นได้อยู่ เพราะดัชนีวันนี้อยู่ที่ 1,600 จุด หากขึ้นไประดับ 1,680-1,700 จุด ถือว่ายังมี upside พอสมควรในไตรมาสสุดท้าย ซึ่งทั้งหมดนี้จะขึ้นอยู่กับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลว่าจะสามารถปลุกความเชื่อมั่นให้มีการใช้จ่ายเกิดขึ้นได้มากน้อยแค่ไหน

ส่วนเงินลงทุนจากต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) ที่เคยมีการคาดว่าจะไหลเข้ามาถึง 1 แสนล้านบาท ปัจจุบันหายไปหมด โดยตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน ตลาดหุ้นไทยถือเป็นประเทศเดียวในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (EM) ที่ฟันด์โฟลว์ติดลบไปแล้วกว่า 136 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซีย บวกอยู่กว่า 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

“เงินต่างชาติที่ไหลเข้ามาในหุ้นไทยหลัก ๆ เป็นเงินระยะสั้น เล่นตามดัชนี พอดัชนีไม่ perform เงินก็ไหลออกเยอะ จึงมีความจำเป็นต้องเพิ่มนักลงทุนระยะยาวให้มากขึ้น โดยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในระยะอีก 3 เดือนข้างหน้า (ต.ค.-ธ.ค. 62) ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ในเกณฑ์ทรงตัว (neutral) โดยเพิ่มขึ้น 8.64% มาอยู่ที่ระดับ 111.62 เนื่องจากช่วงนี้ยังมีความไม่แน่นอนสูง ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวตามไปด้วย ทั้งที่ปัจจัยพื้นฐานของตลาดหุ้นไทยยังไม่ค่อยมีปัญหานัก ซึ่งผลของอัตราดอกเบี้ยต่ำก็เป็นช่วงที่น่าลงทุนอย่างมาก เพียงแต่ปัจจัยแวดล้อมยังไม่เอื้ออำนวย” นายไพบูลย์กล่าว

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการและหัวหน้าสายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่าตลาดหุ้นไทยไตรมาส 4 ปีนี้ คาดว่าจะแกว่งตัวขึ้น เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากทิศทางดอกเบี้ยนโยบายที่ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายเงิน (กนง.) เดือน พ.ย.นี้ มีโอกาสจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ซึ่งจะทำให้ส่วนต่างผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดทุนกับการลงทุนในตราสารหนี้เพิ่มมากขึ้นมาที่ 4.68% สูงกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลังที่ 4.28% ส่งผลให้สินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้นมีความน่าสนใจขึ้น และมีโอกาสเห็นเม็ดเงินโยกเข้ามาลงทุน

ประกอบกับภาพรวมกำไร บจ.ช่วงไตรมาส 3/62 มีแนวโน้มฟื้นตัวจากไตรมาสก่อนหน้ามาอยู่ที่ 2.5 แสนล้านบาท โดยเชื่อว่ากำไรได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาส 2 ที่มีการบันทึกค่าใช้จ่ายตั้งสำรองพนักงานเกษียณอายุ และมีแรงกดดันจากการขาดทุนสต๊อกน้ำมัน (stock loss) ส่วนทิศทางกำไรไตรมาส 4/62 ก็มีแนวโน้มดีขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงไฮซีซั่นของหลายธุรกิจ” นายเทิดศักดิ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ปรับประมาณการกำไร บจ.ปี 2562 ลดลง 2.7% มาอยู่ที่ 9.99 แสนล้านบาท เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากกำไรกลุ่มแบงก์ที่ถูกกระทบจากการปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ลง และแรงกดดันจากการปรับสมมติฐานค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ส่งผลต่อคาดการณ์กำไรสุทธิของหุ้นบางกลุ่ม โดยเฉพาะชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงแรงกดดันจากกำไรกลุ่มพลังงานงวดไตรมาส 2 ที่ได้รับผลกระทบจาก stock loss ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับปีก่อน กำไร บจ.ถือว่ายังเติบโตได้ราว 2.85%

“บล.เอเซีย พลัส มองดัชนีสิ้นปี 2562 ไว้ที่ 1,655 จุด อิง P/E ที่ 16.45 เท่า คิดเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ที่ 100.64 บาท จากเป้าดัชนียังมี upside จากปัจจุบันราว 1-2% แนะนำการลงทุนในหุ้นพื้นฐานดี แต่ราคายังต่ำกว่าตลาด” นายเทิดศักดิ์กล่าว

นายภาสกร ลินมณีโชติ รองกรรมการผู้จัดการ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า บริษัทมองกรอบดัชนีหุ้นไทยสิ้นปีนี้ที่ 1,586-1,681 จุด โดยมองว่าการบรรลุข้อตกลงบางส่วนของสหรัฐกับจีน ที่จะเกิดขึ้นในช่วงเดือน ต.ค.นี้ จะนำ SET Index กลับไปสู่ระดับการซื้อขายกรอบบนในระยะสั้นได้ หรือช่วง 1-3 เดือนข้างหน้านี้ โดยคาดกำไร บจ.ช่วงครึ่งปีหลังปี 2562 จากหุ้นทั้งหมด 125 ตัว อยู่ที่ 381,000 ล้านบาท ลดลง 1% เทียบกับครึ่งปีแรก แต่เติบโตขึ้น 14% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน หากไม่รวมกำไรพิเศษจากการขายสินทรัพย์เข้ากองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมดิจิทัล (DIF) ที่ 4,000 ล้านบาท ในไตรมาส 1/62 คาดว่าครึ่งปีหลังกำไรรวมจะเพิ่มขึ้น 2% เมื่อเทียบครึ่งปีแรก