“SCB EIC” หั่นจีดีพีโต 2.8% “ชิมช้อปใช้” ช่วยแค่ 0.03%

“SCB EIC” หั่นเป้าจีดีพีปีนี้โตแค่ 2.8% แพ็กเกจกระตุ้นภาครัฐปลุกได้แค่ 0.3% เหตุ ศก.โลกชะลอหนัก-บาทแข็งโป๊ก 7.7% กระทบต่างชาติซื้อสินค้าไทย-กดดันการใช้จ่ายนักท่องเที่ยว เฉพาะ “ชิมช้อปใช้” หนุนจีดีพีแค่ 0.03% รอประเมินผลการจับจ่าย รวมถึงมาตรการเฟส 2 อีกที แจงนโยบายการคลังยังมีช่องว่างกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ส่วนนโยบายการเงินคาด กนง. ลดดอกเบี้ยอีกครั้งในปีนี้

นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด EconSCB EIComic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) เปิดเผยว่า อีไอซีได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจ (GDP) ไทยปี 2562 ลงเหลือโต 2.8% จากเดิมโตได้ 3% โดยประเมินมาตรการ “ชิมช้อปใช้” ว่าจะกระตุ้น GDP ได้ราว 0.03% อย่างไรก็ตาม จะต้องรอประเมินอีกรอบ ว่าประชาชนใช้จ่ายเพิ่มจากเงินที่ได้รับมากน้อยแค่ไหน เช่นเดียวกับมาตรการชิมช้อปใช้เฟส 2 ที่ยังต้องรอสรุปรายละเอียดก่อน ทั้งนี้ ในขณะนี้ประเมินว่ามาตรการกระตุ้นของภาครัฐช่วงไตรมาส 3 และ ไตรมาส 4 จะกระตุ้น GDP ได้ราว 0.3%

“การดำเนินนโยบายของรัฐต่อจากนี้ ในส่วนของนโยบายทางการเงิน เชื่อว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 1 ครั้ง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากอัตรดอกเบี้ยของไทยปัจจุบันอยู่ในระดับที่ต่ำมากแล้ว อาจเหลือช่องว่างในการดำเนินนโยบายไม่มาก แต่ในส่วนของนโยบายการคลังยังมีช่องว่างในการทำนโยบาย เนื่องจากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังไม่สูงมากนัก อยู่ที่ 43% ส่งผลให้รัฐบาลสามารถเพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีก” นายยรรยง กล่าว

ทั้งนี้ การปรับลด GDP สะท้อนแนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกที่ได้รับผลกระทบจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1.สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ที่ผลกระทบเริ่มส่งต่อมายังภาคส่งออกของไทย โดยตัวเลขมูลค่าการส่งออกเดือน ส.ค.62 หดตัว -9.8% (ไม่รวมส่งออกทองคำ) และ เริ่มขยายวงไปสู่การจ้างงาน ในเดือน ส.ค.การจ้างงานหดตัว -4% โดยเฉพาะการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการส่งออกหดตัว -3.7% ขณะที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินคู่ค้าคู่แข่ง (NEER) ตั้งแต่ต้นปีถึง ณ ก.ย.62 (YTD) แข็งค่าแล้ว 7.7% และ แข็งค่าขึ้น 3.3% เมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์

“ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินคู่ค้าคู่แข่ง 23.5% และแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ 22.2% ซึ่งนอกจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าจะกระทบกับรายได้ของผู้ส่งออกแล้ว ยังกระทบขีดความสามารถในการแข่งขันในสินค้าบางประเภท เช่น สินค้าเกษตร และสินค้าที่มีความแตกต่างกันไม่มาก เป็นต้น เนื่องจากเป็นกลุ่มสินค้าที่แข่งขันกันด้วยราคา ขณะที่ผลกระทบต่อการท่องเที่ยว แม้จำนวนนักท่องเที่ยวจะยังสามารถเติบโตได้ดี 7% ในเดือน ส.ค.62 แต่พบว่ารายจ่ายต่อหัวนักท่องเที่ยวลดลง โดยในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้นเพียง 1.1% นักท่องเที่ยวยุโรปลดลง 1.2% และนักท่องเที่ยวชาติอื่น ๆ ลดลง 1.6%” นายยรรยง กล่าว

นอกจากนี้ อีไอซี มองว่า แนวโน้มวัฏจักรการเติบโตด้วยการพึ่งพาสินเชื่อจะชะลอลง โดยสินเชื่อเพื่อการบริโภคมีแนวโน้มลดลง ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการที่สถาบันการเงินมีความระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อมากขึ้นและเกณฑ์การควบคุมดูแลที่ออกโดยหน่วยงานกำกับ รวมถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลง อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยหนุนจากการลงทุนของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการเมกะโปรเจ็กต์ (Mega Project) ที่มีการประมูลจัดซื้อจัดจ้างไปแล้วคาดว่าจะส่งผลให้มีเงินไหลเข้าระบบได้ในปี 2563 และจะส่งผลให้มูลค่าการก่อสร้างภาครัฐสามารถขยายตัวได้ 7.9% หรือคิดเป็นมูลค่า 7.95 แสนล้านบาท ขณะที่ปี 2562 คาดว่าจะขยายตัวได้ประมาณ 4%