“อุตตม” จ่อตั้งบอร์ด ร.ฟ.ท. ชุดใหม่-ชี้รายชื่อส่งถึงมือสคร.เรียบร้อย

อุตตม จ่อตั้งบอร์ด ร.ฟ.ท. ชุดใหม่ หลังบอร์ดเดิมลาออกยกชุด เผยรายชื่อส่งถึงมือสคร.เรียบร้อย ชี้แจงคลังไม่เกี่ยวข้องโดยตรงเรื่อง TOR ก.คมนาคมดูแลทั้งหมด พร้อมสั่งธนารักษ์ทำงานยึดโยงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากทั่วประเทศ

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวตอนท้ายหลังตรวจเยี่ยมกรมธนารักษ์ ถึงเรื่องที่คณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) หรือ บอร์ดรถไฟว่างลง เนื่องจากมีการลาออกกันยกชุดว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงคมนาคม ในการจัดตั้งบอร์ด ร.ฟ.ท. ชุดใหม่ ซึ่งทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน ซึ่งหลังจากตกลงแล้วจะส่งรายชื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา โดยปัจจุบันรายชื่อถูกส่งมายังคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อพิจารณาเรียบร้อยแล้ว

“สคร.เป็นผู้ดูแลในเรื่องรัฐวิสาหกิจ และเป็นผู้สนับสนุนให้เกิดการตั้งบอร์ดร.ฟ.ท.ขึ้นเท่านั้น จึงบอกเรื่องของเวลา ยังไม่ได้เวลาจะจัดตั้งได้ช่วงวันที่เท่าไหร่ โดยเรื่องนี้ต้องไปถามกระทรวงคมนาคม แต่หากสามารถจัดตั้งได้รวดเร็วก็จะเป็นผลดี ปัจจุบันรายชื่อส่งมาที่สคร.แล้ว ซึ่งผมยังขอไม่เปิดเผย แต่คาดว่าใช้เวลาไม่นานจะจัดตั้งบอร์ดร.ฟ.ท.ได้” 

พร้อมกันนี้ นายอุตตม ชี้แจงถึงกรณีที่โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ซึ่งปัจจุบันมีการเลื่อนการเซ็นสัญญาก่อสร้างกับกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (CPH) ออกไป เนื่องจากนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) มองว่าเป็นการผลักภาระการลงทุนให้เอกชนฝ่ายเดียวนั้นว่า ทุกโครงการที่เกิดขึ้น มีการประเมินทั้งบทบาทของเอกชนและภาครัฐว่าเป็นอย่างไร มีความเสี่ยงโดยรวมอะไรบ้าง ซึ่งทุกวันนี้รัฐบาลเดินตามข้อกำหนดของผู้ว่าจ้าง (TOR) ที่ได้ตกลงเรื่องความเสี่ยงที่รับผิดชอบโดยรวมอยู่แล้ว

“วันนี้รัฐบาลยังเจรจากับกระทรวงคมนาคมเพื่อให้เกิดข้อยุติ และมองว่า TOR ที่ทำร่วมกัน ก็มีความยืดหยุ่นในระดับหนึ่ง แต่กระทรวงการคลังไม่ได้เกี่ยวข้องในเรื่องนี้โดยตรง เรื่องทั้งหมดจะอยู่ที่กระทรวงคมนาคมซึ่งเป็นผู้ที่ดูแลกำกับ”

ทั้งนี้ นายอุตตม ได้สั่งให้กรมธนารักษ์วางแผนนำที่ราชพัสดุ ซึ่งมีอยู่ 12 ล้านไร่ มาใช้ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากทั่วประเทศ โดยให้ประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นต้น เพื่อนำพื้นที่ราชพัสดุ มาสนับสนุนแหล่งทำมาหากินของชุมชน และยกระดับเป็นเส้นทางท่องเที่ยว เปิดพื้นที่จำหน่ายสินค้า รวมถึงการสร้างที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ

ส่วนเศรษฐกิจในภาพใหญ่ เรื่องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุนอุตสาหกรรมใหม่ การลงทุนภาคการเกษตร เป็นอีกโจทย์ของกรมธนารักษ์ว่าจะดำเนินการอย่างไรให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และพื้นที่เศรษฐกิจอื่น ๆ โดยกรมธนารักษ์ต้องเร่งจัดทำแผนผังพื้นที่ราชพัสดุกลุ่มจังหวัด และรายภูมิภาค แบบดิจิทัลขึ้นมา เพื่อนำไปสู่ฐานข้อมูล หรือ บิ๊กดาต้า ของกรมธนารักษ์


ซึ่งฐานข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์ในระยะยาว และเป็นการติดตามว่ามีการใช้ที่ราชพัสดุตรงตามวัตถุประสงค์หรือไม่ หากมีการบุกรุกหรือใช้ผิดวัตถุประสงค์กรมธนารักษ์จะเข้าไปดูแลโดยเปลี่ยนพื้นที่เหล่านั้นให้มีการเช่าอย่างถูกต้อง ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ให้กรมธนารักษ์อีกหนึ่งช่องทาง