P2P เกิดช้า…แต่ชัวร์ ? ธปท.เข้มงวดไลเซนส์แพลตฟอร์ม

ผ่านมา 5 เดือน หลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดประตูให้ผู้ประกอบการสามารถเข้ามายื่นขอทำธุรกิจธุรกรรมสินเชื่อระหว่างบุคคลกับบุคคล (P2P Lending) มาตั้งแต่ปลายเดือน เม.ย. 2562 โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ ธปท.ได้จัดงานเสวนา “EconFin Talk & Share : Peer to Peer Lending (P2P) สินเชื่อออนไลน์ระหว่างบุคคลรูปแบบใหม่” เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจการทำธุรกิจดังกล่าว ซึ่งผู้เข้าร่วมรับฟังมีทั้งแพลตฟอร์มต่าง ๆ และประชาชนทั่วไปที่สนใจ

เปิดเกณฑ์ปล่อยกู้

“ศจีรัสมิ์ พิพัฒน์วีรเดช” ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายการกำกับสถาบันการเงิน ธปท. เปิดเผยว่า การทำธุรกิจ P2P นั้น ผู้ที่จะประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มต้องเป็นนิติบุคคลไทยที่มีทุนจดทะเบียนตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไป โดยต้องมีคนไทยถือหุ้นตั้งแต่ 75% ขึ้นไป และห้ามประกอบธุรกิจอื่น ยกเว้นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องหรือเกี่ยวกับการให้บริการ P2P เช่น ธุรกิจติดตามทวงถามหนี้ เป็นต้น ส่วนผู้ให้กู้และผู้กู้ก็ต้องเป็นไปตามเกณฑ์ โดยผู้กู้ กรณีเป็นบุคคลธรรมดา กู้เพื่ออุปโภค/บริโภค ไม่มีหลักประกัน ในกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาท จะกู้ได้ไม่เกิน 1.5 เท่า ส่วนผู้มีรายได้มากกว่า 3 หมื่นบาท กู้ได้ไม่เกิน 5 เท่า ส่วนบุคคลธรรมดาที่กู้ไปทำธุรกิจ หรือมีหลักประกัน กู้ได้สูงสุดไม่เกิน 50 ล้านบาท ด้านผู้ให้กู้ต้องเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล หากเป็นรายย่อยจะปล่อยกู้ได้ไม่เกิน 5 แสนบาทต่อปี แต่หากเป็นสถาบันจะปล่อยกู้ได้ไม่จำกัด (ดูกราฟิก) ทั้งนี้ ผู้ที่จะประกอบธุรกิจแพลตฟอร์ม P2P Lending จะต้องเข้าสนามทดสอบ (regulatory sandbox)

ขณะที่ “พรสิริ รุ่งสิริโอภาส” รองผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายการกำกับสถาบันการเงิน ธปท. อธิบายว่า แพลตฟอร์ม P2P จะทำหน้าที่เป็นผู้จับคู่ (matchmaker) ระหว่างผู้กู้กับผู้ให้กู้เท่านั้น แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้ “เก็บรักษาเงิน” ของผู้ใช้บริการ เนื่องจากมีตัวอย่างการทุุจริตในต่างประเทศ ดังนั้น จึงจะต้องจัดให้มีบุคคลที่ 3 ทำหน้าที่ดังกล่าวแทน ซึ่งสามารถเป็นได้ทั้งสถาบันการเงิน ผู้ประกอบการที่ถูกกำกับดูแลโดยเฉพาะ เช่น บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ที่มีใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจรับฝากสินทรัพย์ (custodian) เป็นต้น

โดยแพลตฟอร์มสามารถเรียกเก็บ “ค่าธรรมเนียม” ได้ โดยจะต้องเปิดเผยข้อมูลอัตราค่าธรรมเนียมให้ผู้ใช้บริการทั้งฝั่งของผู้กู้และผู้ให้กู้รับทราบเงื่อนไขก่อนตัดสินใจใช้บริการ ซึ่ง ธปท.ไม่ได้กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมสูงสุด และปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด

“ค่าธรรมเนียมที่แพลตฟอร์มจะเรียกเก็บขึ้นอยู่กับรูปแบบธุรกิจของแพลตฟอร์มนั้น ๆ บางรูปแบบธุรกิจอาจเรียกเก็บจากผู้กู้เท่านั้น เช่น คิดค่าธรรมเนียมเป็นเปอร์เซ็นต์ของวงเงินกู้ที่ได้ เป็นต้น หรือในบางรูปแบบธุรกิจจะเรียกเก็บจากผู้ให้กู้ด้วยก็ทำได้”

เกิดหนี้เสียใครรับผิดชอบ ?

นอกจากนี้ มีประเด็นที่ผู้เข้าร่วมฟังเสวนาในครั้งนี้ ซึ่งสนใจประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มตั้งข้อสงสัยว่า ในกรณีที่ลูกค้าเกิดการผิดนัดชำระหนี้ แพลตฟอร์มจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบด้วยหรือไม่

ซึ่ง “พรสิริ” ตอบว่า กระบวนการหลังมีการผิดนัดชำระหนี้ จะขึ้นอยู่กับรูปแบบธุรกิจของแพลตฟอร์มนั้น ๆ ว่ามีการทำหน้าที่ติดตามทวงถามหนี้ หรือทำหน้าที่ฟ้องร้องดำเนินคดีให้ผู้ให้กู้ต่อด้วยหรือไม่ ซึ่งหากประสงค์จะทำหน้าที่ดังกล่าวจะต้องเข้ามาพูดคุยรายละเอียดกับ ธปท.ว่า ต้องการทำธุรกิจที่เป็นบริการต่อยอดอะไรบ้าง และทำในขอบเขตแค่ไหน อย่างไร

อย่างไรก็ดี แพลตฟอร์มจะต้องมีการประเมินผู้ลงทุนหรือผู้ให้กู้ก่อนใช้บริการ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าผู้ให้กู้รับรู้ความเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นแล้วก่อนใช้บริการ (client suitability) เช่น ความเสี่ยงที่อาจไม่ได้รับเงินต้น หรือดอกเบี้ยคืนตามที่สัญญา หรืออาจต้องฟ้องร้องดำเนินคดีตามสัญญาต่าง ๆ ด้วยตนเอง ฯลฯ

“ผู้ให้กู้ P2P อาจเป็นทางเลือกการลงทุนใหม่ ที่อาจให้ผลตอบแทนสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก แต่แพลตฟอร์มต้องประเมินความเข้าใจของผู้ให้กู้ด้วยว่า เขารับรู้ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้”

จำกัดให้กู้เพื่อบริโภค

“พรสิริ” กล่าวอีกว่า การกู้บนแพลตฟอร์มจะจำกัดว่าหากเป็นการกู้เงินเพื่ออุปโภค/บริโภคที่ไม่มีหลักประกัน จะกู้เงินได้ไม่เกิน 3 แหล่ง (นับรวมทั้งการสินเชื่อบน P2P และสินเชื่อบุคคล) โดยผู้กู้จะต้องยืนยันตนเอง (self-declared) ว่า ปัจจุบันได้กู้เงินไปแล้วกี่แห่ง ซึ่งนอกจากเอกสารที่ผู้กู้ยืนยันตนเองแล้ว แพลตฟอร์มจะต้องพิจารณาข้อมูลอื่น ๆ ประกอบ เช่น สัดส่วนหนี้ต่อรายได้ (DSR) เป็นต้น อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน ธปท.กำลังพิจารณา เรื่องการเข้าเป็นสมาชิกของเครดิตบูโร (NCB) ของธุรกิจ P2P อยู่ด้วย นอกจากนี้ ธปท.ยังอนุญาตให้แพลตฟอร์มพิจารณาสินเชื่อโดยใช้ข้อมูลอื่น ๆ อ้างอิง (information based lending) แต่จะต้องเข้ารับการตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่นำมาพิจารณากับ ธปท.ก่อนในช่วงที่ทดสอบระบบ

10 รายสนใจเปิดแพลตฟอร์ม

ทั้งนี้ “พรสิริ” บอกว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่สนใจทำธุรกิจแพลตฟอร์ม P2P Lending สนใจเข้ามาพูดคุยรายละเอียดกับ ธปท.แล้วกว่า 10 ราย อย่างไรก็ดี การเตรียมตัวเพื่อที่จะมาเข้าทดสอบในแซนด์บอกซ์ ต้องมีความพร้อมในระดับหนึ่ง โดยจะต้องเตรียมการเรื่องระบบมาก่อน

“ก็มีผู้สนใจเยอะ แต่อยู่ระหว่างช่วงที่เขากำลังเตรียมเปิดระบบ หากไม่มีการเตรียมตัวหรือไม่มีระบบงานมาก่อน จะไม่สามารถเข้ามาทดสอบในแซนด์บอกซ์ได้”


ทั้งหมดนี้ กระบวนการการออกใบอนุญาตอาจจะดูช้า เนื่องจาก ธปท.ไม่ต้องการปล่อยให้เกิดปัญหาก่อนแล้วค่อยมาคุมทีหลัง จึงเลือกที่จะคุมเข้มตั้งแต่ต้น เพราะเห็นตัวอย่างในต่างประเทศมาแล้วนั่นเอง