แห่ขายประกันสุขภาพโตกระฉูด “เมืองไทย-เอไอเอ” งัดโปรดักต์จับคนรวย

เทรนด์ธุรกิจประกันแห่ขายประกันสุขภาพพุ่งต่อเนื่อง ทั้งฝั่ง “ประกันชีวิต” ที่ทยอยลด/เลิกขายประกันสะสมทรัพย์ และฝั่ง “ประกันวินาศภัย” โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปีนี้ ตลาดประกันสุขภาพโตสูง 20% ขณะที่ค่ายใหญ่ชิงจับกลุ่มคนรวย “เมืองไทยประกันชีวิต” ชูสัญญาเพิ่มเติม “อีลิท เฮลท์” ตั้งเป้าปีนี้โกยเบี้ย 1 พันล้านบาท ฟาก “เอไอเอ” ส่ง “เอไอเอ อินฟินิทแคร์” จับลูกค้าคนรวยช่วงกลาง ต.ค.นี้ อัดทุนประกันสูงสุด 120 ล้านบาท-คุ้มครองทั่วโลก-ถึงอายุ 85 ปี

นางนุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ ประธานสภาธุรกิจประกันภัยไทย และในฐานะนายกสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันธุรกิจประกันหันมาขายประกันสุขภาพกันมากขึ้น เนื่องจากบริษัทประกันต้องเผชิญความท้าทายในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่การันตีผลตอบแทน หรือประกันสะสมทรัพย์ ที่เริ่มขายกันน้อยลงหรือเลิกขายไป เพราะมีความเสี่ยงเรื่องการจ่ายผลตอบแทนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จึงหันไปขายสินค้าที่เน้นเรื่องความคุ้มครองกันมากขึ้น นอกจากนี้ การเข้าสู่สังคมสูงวัยของประเทศไทย และค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีความนิยมซื้อประกันสุขภาพกันมากขึ้น

ขณะที่ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีการคาดการณ์ว่า ปีนี้ตลาดประกันสุขภาพจะเติบโตเร่งขึ้นมาที่ 15-20% จากปีก่อน เนื่องจากบริษัทประกันชีวิตส่วนใหญ่มีการขยายช่วงอายุที่ซื้อความคุ้มครองเป็น 70-80 ปี จากเดิมจำกัดอายุไม่เกิน 60 ปี ซึ่งจะสอดคล้องกับแนวโน้มการเข้าสู่สังคมสูงวัยและตอบโจทย์ค่ารักษาในโรงพยาบาลที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก โดยกลุ่มเป้าหมายยังคงเป็นผู้ที่มีฐานรายได้ระดับกลางและบน

นายปราโมทย์ ศักดิ์กำจร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต (MTL) กล่าวว่า ปีนี้พอร์ตสินค้าสุขภาพของบริษัทเติบโตดีมาก คาดว่าทั้งปีน่าจะโตได้ใกล้ ๆ 20% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากคนเข้าใจเรื่องของการประกันสุขภาพดีขึ้น โดยผลิตภัณฑ์หลักของบริษัทอย่างสัญญาเพิ่มเติม “อีลิท เฮลท์” ได้รับความสนใจค่อนข้างสูง ซึ่งเชื่อว่าน่าจะได้ผลบวกจากการโฆษณาและพรีเซ็นเตอร์คนล่าสุดอย่าง “ติ๊ก-เจษฎาภรณ์ ผลดี” มาช่วยกระตุ้นอีกทางหนึ่งด้วย ปัจจุบันมีเบี้ยเข้ามาแล้ว 600-700 ล้านบาท เป็นลูกค้ารายใหม่ราว 12,000-15,000 คน ทั้งนี้ ตั้งเป้าสิ้นปีจะมีเบี้ยรับเข้ามาได้ราว 1,000 ล้านบาท

นายเอกรัตน์ ฐิติมั่น ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด เอไอเอ ประเทศไทย กล่าวว่า มั่นใจว่าปีนี้และปีหน้าเทรนด์ประกันสุขภาพจะขยายตัวอย่างมาก เนื่องด้วยหลายบริษัทประกันหันมาโปรโมตกันมากขึ้น โดยปัจจุบันถือว่าการแข่งขันค่อนข้างดุเดือด รุนแรงพอสมควร โดยหากโฟกัสกลุ่มสุขภาพและโรคร้ายแรงถือว่ายังมีตลาดรองรับได้อีกมาก รวมไปถึงประกันชีวิตเองที่เป็นแบบประกันแท้ ๆ ไม่ใช่สินค้าเงินฝาก ก็มีโอกาสที่จะเติบโตสูง เพราะปัจจุบันคนไทยถือครองกรมธรรม์ประกันชีวิตแค่ 30-40% ซึ่งหากเปรียบเทียบกับประเทศญี่ปุ่นที่ 1 คน ถือกรมธรรม์ถึง 4-5 ฉบับ จึงยังขยายได้อีกมาก

“สภาวะที่ตลาดไม่โต ยังไงการแข่งขันก็จะต้องดุเดือดขึ้น เพราะทุกคนอยากโต และจุดหนึ่งที่น่ากลัว คือ ภาวะดอกเบี้ยขาลง ส่วนใหญ่หลายบริษัทที่เคยเน้นขายโปรดักต์สะสมทรัพย์ เริ่มหันมาขายสินค้าประกันสุขภาพมากขึ้น ถ้าโฟกัสกลุ่มสุขภาพและโรคร้ายแรง ยังมีตลาดรองรับได้อีกมาก” นายเอกรัตน์กล่าว

ขณะที่แหล่งข่าวจากเอไอเอเปิดเผยว่า ช่วงกลางเดือน ต.ค.นี้ บริษัทจะเปิดตัวประกันสุขภาพตัวใหม่ “เอไอเอ อินฟินิท แคร์” โดยความพิเศษ คือ ลูกค้าจะได้รับความคุ้มครองด้วยทุนประกันสูงสุดอยู่ที่ 120 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นทุนประกันที่สูงที่สุดในตลาดประกันสุขภาพ โดยแผนความคุ้มครองจะมีให้เลือก 2 แผน คือ ทุนประกัน 60 ล้านบาท และ 120 ล้านบาท ซึ่งจะคุ้มครองยาวจนถึงอายุ 85 ปี หรือจนกระทั่งแบบประกันหลักสิ้นผลบังคับ โดยพื้นที่ความคุ้มครองแบ่งเป็น 2 โซน คือ 1.คุ้มครองทั่วโลก 2.คุ้มครองทั่วโลกยกเว้นสหรัฐอเมริกาและเกาะเล็กรอบนอกของสหรัฐ ซึ่งจะครอบคลุมผลประโยชน์ค่ารักษาพยาบาลทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก และกรณีฉุกเฉิน ค่าห้องสูงสุดอยู่ที่ 25,000 บาทต่อวัน นอกจากนี้ยังมีความคุ้มครองพิเศษ อาทิ การตรวจสุขภาพ การฉีดวัคซีน และทันตกรรม

“ความพิเศษของกรมธรรม์จะเริ่มตั้งแต่การป้องกัน มาสู่การตรวจเช็ก การวินิจฉัยโรค การบำบัดรักษา และการฟื้นฟูสุขภาพ” แหล่งข่าวกล่าว

ด้านนายชูฉัตร ประมูลผล รองเลขาธิการด้านกำกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวว่า ประกันสุขภาพจะกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มาแรงอย่างมาก จากการที่คนไทยห่วงสุขภาพ และต้องการลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่มีการปรับเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉลี่ยประมาณ 8% รวมถึงการรับมือกับโรคร้าย ซึ่งสวัสดิการที่มีอยู่เดิมอาจไม่เพียงพอ ซึ่งขณะนี้ คปภ.อยู่ในช่วงจัดทำรูปแบบการประกันสุขภาพมาตรฐานฉบับใหม่ เพื่อลดข้อโต้แย้งให้ได้มากที่สุด และให้ประชาชนทุกคนเข้ามาใช้ประโยชน์จากการประกันสุขภาพมากขึ้น


“ปัจจุบันเบี้ยประกันสุขภาพทั้งระบบมีอยู่ราว 1 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 80% ที่มาจากธุรกิจประกันชีวิต และที่เหลือมาจากธุรกิจประกันวินาศภัย ทั้งนี้ ตามหลักการคนจะทำประกันสุขภาพมากขึ้น ซึ่งเบี้ยรวมจะโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญแน่ ๆ แต่จำนวนเบี้ยประกันที่ต้องเสียต่อคนอาจไม่ได้เพิ่มอย่างที่คิด” นายชูฉัตรกล่าว