ค่าเงินบาทแข็งค่าสุดในรอบ 6 ปี ธปท.ระบุจะมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราต่างประเทศระหว่างวันที่ 7-11 ตุลาคม 2562 ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันจันทร์ (7/10) ที่ระดับ 30.42/44 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (4/10) ที่ระดับ 30.44/46 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ในระหว่างสัปดาห์ค่าเินบาทเคื่อนไหวค่อนข้างผันผวน โดยค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าสุดในรอบ 6 ปี สู่ระดับ 30.26 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ในวันพฤหัสบดี (10/10) โดยเป็นผลจากการผ่านแนวต้านทางเทคนิค และนักลงทุนยังมองไทยเป็นแหล่งพักเงินที่ปลอดภัย เมื่อเทียบตลาดเงินใหม่อื่น ๆ ในช่วงที่ตลาดกลับมากังวลสงครามการค้า หากเทียบตั้งแต่ต้นปีนี้ ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาแล้วราว 7.5% ซึ่งเป็นสกุลเงินที่แข็งค่ามากที่สุดในเอเชีย

อย่าไรก็ตามผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีความเป็นห่วงอย่างมาก ต่อการแข็งค่าของเงินบาท โดย ธปท.จะมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ไม่ให้เงินบาทแข็งค่าเร็วเกินไป จนกระทบต่อผู้ส่งออก และภาคการท่องเที่ยว พร้อมทั้งเตรียมออกมาตรการชุดใหม่เพื่อดูแลการแข็งค่าของเงินบาท นอกจากนี้ ธปท.ยืนยันด้วยว่า เศรษฐกิจไทยขณะนี้ไม่ได้เกิดภาวะถดถอยหรือวิกฤต เพียงแต่เติบโตชะลอลงและต่ำกว่าศักยภาพ ขณะที่ขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) ที่เหลืออยู่ จะนำมาใช้เมื่อมีความจำเป็นจริง ๆ และอัตราดอกเบี้ยนโยบายสามารถจะต่ำกว่าระดับ 1.25% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ได้

ขณะที่ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ย.อยู่ที่ 72.2 จาก 73.6 ใน ส.ค. ซึ่งเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 และเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 39 เดือน เนื่องจากผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังฟื้นตัวช้า และกำลังซื้อของประชาชนยังไม่ฟื้นตัวขึ้นมากนัก แม้ว่ารัฐบาลเริ่มมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมามากขึ้น ประกอบกับผู้บริโภคยังกังวลกับสถานการณ์ไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก เนื่องจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน และปัญหา Brexit ทั้งนี้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 30.24-30.49 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดวันศุกร์ (11/10) ที่ระดับ 30.35/39 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐที่ประกาศออกมานั้นค่อนข้างเป็นที่ผิดหวังต่อตลาด อาทิ กระทรวงแรงงานสหรัฐ รายงานว่าการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเพียง 136,000 ตำแหน่งในเดือน ก.ย. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 145,000 ตำแหน่ง ถึงแม้ว่าอัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับ 3.5% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 50 ปี และต่ำกว่าระดับ 3.7% ที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ อีกทั้งค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ยังได้รับแรงกดดันหลังจากคณะของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศระงับการออกวีซ่าให้กับเจ้าหน้าที่จีนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกดขี่ข่มเหงและจับกุมชาวมุสลิมเป็นจำนวนมากในมณฑลซินเจียง นอกจากนี้รัฐบาลสหรัฐยังได้ประกาศขึ้นบัญชีดำต่อบริษัทต่าง ๆ ของจีน 28 แห่งโดยอ้างว่าบริษัทเหล่านี้ได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนของชาวมุสลิม ซึ่งนายเกิง ชวง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนกล่าวว่า จีนเตรียมตอบโต้สหรัฐและขอเรียกร้องอย่างจริงจังให้สหรัฐยุติการแทรกแซงกิจการภายในของจีน

นอกจากนี้ในระหว่างสัปดาห์คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้เปิดเผยรายงานการประชุมประจำเดือน ก.ย. โดยระบุว่า กรรมการเฟดส่วนใหญ่เห็นพ้องถึงความจำเป็นในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นลง 0.25% สู่ระดับ 1.75-2.00% ในการประชุมซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 17-18 ก.ย. ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ผู้กำหนดนโยบายยังคงมีความเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องทิศทางการกำหนดนโยบายการเงินในอนาคต นอกจากนี้ รายงานการประชุมยังระบุอีกด้วยว่า เจ้าหน้าที่เฟดมีความเห็นตรงกันว่า เฟดจะมีความจำเป็นต้องหารือกันในเร็ว ๆ นี้ในเรื่องการปรับเพิ่มขนาดงบดุล หลังจากเกิดภาวะปั่นป่วนวุ่นวายในตลาดเงินระยะสั้น

สำหรับค่าเงินยูโรเปิดตลาดวันจันทร์ (7/10) ที่ระดับ 1.0987/89 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (4/10) ที่ระดับ 1.0982/84 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ในช่วงต้นสัปดาห์ ค่าเงินยูโรปรับตัวอ่อนค่าลงหลังจากกระทรวงเศรษฐกิจของเยอรมนี เปิดเผยตัวเลขคำสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนสิงหาคมหดตัวลง 0.6% จากเดือนก่อนหน้า ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะลดลงที่ 0.3% โดยรายงานระบุว่า สาเหตุของการหดตัวลงมาจากความต้องการสินค้าประเภททุนภายในประเทศที่ร่วงลงอย่างหนัก สะท้อนถึงการชะอตัวของเศรษฐกิจเยอรมนีในฐานะประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของยุโรป

ขณะเดียวกันค่าเงินยูโรและปอนด์ยังคงได้รับแรงกดดันจากความไม่แน่นอนของการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ (Brexit) ที่ระยะเวลาสิ้นสุดใกล้เข้ามาแล้ว โดยการเจรจาข้อตกลงการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ระหว่างนายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ และผู้นำของสหภาพยุโรป (EU) มีแนวโน้มที่จะประสบความล้มเหลว ซึ่งนายฌอง-คล็อต ยุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ซึ่งเป็นองค์กรบริหารของ EU ออกแถลงการณ์ก่อนหน้านี้ว่าข้อเสนอ Brexit ที่นายจอห์นสันยื่นต่อ EU ยังคงมีปัญหาหลายประการที่ต้องแก้ไขและนางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ได้แจ้งต่อนายจอห์นสันว่า มีแนวโน้มอย่างมากที่ EU จะไม่รับข้อเสนอ Brexit ของนายจอห์นสัน ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0939-1.1034 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (11/10) ที่ระดับ 1.1018/22 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ค่าเงินเยนเปิดตลาดวันจันทร์ (7/10) ที่ระดับ 06.76/78 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (4/10) ที่ระดับ 106.71/73 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นปรับลดมุมมองต่อเศรษฐกิจสู่ “เลวร้ายลง” ภายหลังจากที่ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจลดลงสู่ระดับ 91.7% ในเดือน ส.ค.จากระดับ 93.7% ในเดือน ก.ค. ทั้งนี้การปรับลดมุมมองดังกล่าวกระตุ้นให้นักวิเคราะห์คาดว่ารัฐบาลญี่ปุ่นอาจจะปรับเพิ่มรายจ่าย หลังจากนายรัฐมนตรีชินโซ อาเบะของญี่ปุ่นได้เคยกล่าวว่า เขาพร้อมจะดำเนินขั้นตอนทุกขั้นตอนที่เป็นไปได้ ถ้าหากความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจพุ่งสูงขึ้น หลังจากญี่ปุ่นปรับขึ้นภาษีการขายสู่ 10% ตลอดทั้งสัปดาห์ ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวในทิศทางที่อ่อนค่าลง หลังจากที่นักลงทุนลดความต้องการสกุลเงินปลอดภัย เนื่องจากนักลงทุนตั้งความหวังว่าจะมีความคืบหน้าในการเจรจาการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ ทั้งนี้ในสัปดาห์นี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวระหว่าง 106.55-108.11 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (11/10) ที่ระดับ 107.96/99 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ