ธปท.เปิดเกมสู้ “บาทแข็ง” รื้อระเบียบส่งออกทองคำ

แบงก์ชาติไม่ปิดประตูลดดอกเบี้ยต่ำกว่า 1.25% เตรียมงัดสารพัดมาตรการสกัดบาทแข็ง นักวิเคราะห์หนุน ธปท. จัดการโฟลว์ “ทองคำ” ลดแรงกดดันค่าเงิน “กรุงไทย” คาดสิ้นปีบาทแข็ง 30.20 บาท แนะปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินหวั่นรับมือไม่ไหว หลังธนาคารกลางทั่วโลกส่งสัญญาณ “ลดดอกเบี้ย-อัด QE” ระดมมาตรการสกัดบาทแข็ง

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน “Analyst Meeting” เมื่อ 10 ตุลาคมที่ผ่านมาว่า ที่ผ่านมา ธปท.และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีความกังวลเรื่องของการแข็งค่าของเงินบาท และเป็นห่วงค่อนข้างมาก โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาออกมาตรการเพิ่มเติมใน 3 กลุ่ม โดยมาตรการกลุ่มแรกคาดว่าจะออกมาใน 1-2 เดือนนี้ ซึ่งจะเป็นการทำให้เงินตราต่างประเทศที่ไหลเข้าและออกเกิดความสมดุลมากขึ้น

ในลักษณะเปิดเสรีให้นักลงทุนไทยทั้งรายบุคคลและสถาบันไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศเพิ่มขึ้น รวมถึงให้ผู้ส่งออกสามารถพักเงิน และบริหารจัดการอยู่ในต่างประเทศได้นานขึ้น กลุ่มที่สองเป็นมาตรการดูแลการซื้อขายเงินตราต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับทองคำ เนื่องจากเมืองไทยมีการส่งออกทองคำมูลค่าค่อนข้างสูง โดยเฉพาะในภาวะราคาทองคำตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ที่ผ่านมาจึงมีเงินทุนจากการขายทองคำไหลเข้ามาถึงประมาณ 4,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นแรงกดดันค่าเงินบาท ธปท.จะเข้าไปดูเพื่อลดแรงกระแทกและไม่ให้มีผลกระทบต่อค่าเงินบาท

“การซื้อขายทองคำมีลักษณะเป็นการลงทุนเช่นเดียวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ ซึ่งไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ แต่สร้างผลข้างเคียงด้านค่าเงิน ก็ต้องมาดูกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ไม่ได้ห้ามการลงทุนซื้อขายทองคำ แต่จะเป็นการทบทวนกฎเกณฑ์เพื่อให้รายได้จากการซื้อขายทองคำไม่มีแรงกระแทกกับค่าเงินมากเกินไป” นายวิรไทกล่าว

ส่วนอีกกลุ่มมาตรการ จะเป็นการดูประเด็นเชิงโครงสร้างด้านการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด โดยการออกมาตรการลดการเกินดุลบัญชีสะพัด ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน อาทิ ภาครัฐที่มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ หากเดินตามแผนที่วางไว้ได้เร็วก็จะส่งผลให้การนำเข้าสินค้าทุนเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เช่น 5G สมาร์ทซิตี้ เป็นต้น

“การลงทุนเหล่านี้จำเป็นที่จะต้องนำเข้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นอุปกรณ์สำคัญ ซึ่งสามารถใช้โอกาสในภาวะเช่นนี้ส่งเสริมให้เกิดการนำเข้า เพื่อวางรากฐานของเศรษฐกิจดิจิทัล และหากทำมาตรการดังกล่าวที่ว่ามานี้จะทำให้ลดแรงกดดันของค่าเงินบาทได้มากขึ้น” นายวิรไทกล่าว

ต่างชาติขนเงินซื้อกิจการไทย

อย่างไรก็ดี นายวิรไทกล่าวว่า ปัจจัยที่มีผลกับการเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา มาจากทั้งปัจจัยภายในประเทศที่มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง รวมถึงมี FDI มากขึ้นในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาจากที่ต่างชาติเข้ามาเทกโอเวอร์บริษัทไทยเพิ่มขึ้น รวมถึงมีการระดมทุนของบริษัทใหญ่ที่เป็นดีล

มูลค่าสูงระดับหมื่นล้านบาท จึงมีผลในการสร้างแรงกดดันต่อค่าเงินบาท แต่ที่สำคัญมากกว่าคือปัจจัยภายนอกประเทศ จากปัญหาการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่ยืดเยื้อ รวมถึงเศรษฐกิจโลกยังเผชิญความเสี่ยงจากเหตุการณ์ตะวันออกกลาง เป็นต้น ซึ่งภาวะเหล่านี้ส่งผลต่อระบบการเงินและการเมืองโลก จึงส่งผลกระทบต่อค่าเงินสกุลหลัก ๆ และส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทกับสกุลเงินหลัก

ไม่ปิดประตู ดบ.ต่ำกว่า 1.25%

ต่อกรณีนักวิเคราะห์ซักถามถึงการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายว่าล่าช้าเกินไปหรือน้อยเกินไปหรือไม่ นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. ตอบว่า ในการประชุม กนง.เมื่อเดือน ส.ค. แม้จะไม่ได้ประกาศตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจใหม่ แต่ กนง.ก็เห็นแล้วว่าการขยายตัวทั้งเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และการส่งออกต่ำกว่าที่คาด จึงมีการลดดอกเบี้ยทันที ซึ่งจะช่วยรองรับเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง สำหรับการประชุม กนง.ครั้งล่าสุดที่มีมติเอกฉันท์ 7 : 0 ให้คงดอกเบี้ย พบว่าตัวเลขเศรษฐกิจใกล้เคียงกับเดือน ส.ค. ที่คาดการณ์ไว้ ขณะที่ในช่วง ส.ค.-ก.ย. รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายมาตรการ จึงต้องประเมินว่ามาตรการที่ทำไปทั้งหมดจะมีผลต่อเศรษฐกิจมากแค่ไหน ทั้งนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง

“บางท่านคาดการณ์ว่า กนง.จะไม่ลดอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า 1.25% ขอชี้แจงว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1.25% เป็นเพียงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำที่สุดในอดีต ไม่ได้หมายความว่าจะลดลงต่ำกว่านั้นไม่ได้ อนาคตข้างหน้ายังมีความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจอีกมาก หากมีความจำเป็นก็สามารถลดดอกเบี้ยต่ำกว่า 1.25% ได้ ตามหลักการ data-dependent ซึ่งชั่งน้ำหนักทั้ง 3 เรื่อง คือ เงินเฟ้อ เศรษฐกิจ และเสถียรภาพระบบการเงิน รวมถึงเรามีเครื่องมือดูแลเสถียรภาพระบบการเงินระหว่างทางอยู่แล้ว” นายเมธีกล่าว

รับมือ “เฟด-อีซีบี” ลดดอกเบี้ย

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ ประธานนักกลยุทธ์ตลาดทุน สายงานธุรกิจตลาดเงินทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์ค่าเงินบาทยังคงมีทิศทางแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ต้นปีถึง 11 ต.ค. 62 เงินบาทแข็งค่าขึ้นแล้ว 6.88% แข็งค่าเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย แต่ก่อนหน้านี้ก็มีแข็งค่าไปถึงกว่า 7% ซึ่งคาดว่าช่วงที่ผ่านมา ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เข้าไปดูแลตอนที่ค่าเงินบาทแข็งค่าลึกไปถึง 30.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และในระยะข้างหน้า ธนาคารกลางหลักของโลก ก็มีแนวโน้มดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลาย ทั้งการลดดอกเบี้ย และการออกมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ทำให้ยิ่งกดดันค่าเงินบาท หากไม่มีการดำเนินการใด ๆ เพื่อดูแลตรงนี้

“รอบนี้ ธปท.ส่งสัญญาณให้เห็นว่ามีการดูแลค่าเงินบาทอย่างจริงจัง เพราะเกรงว่าหากปล่อยให้บาทแข็งค่าไปมากกว่านี้จะลำบาก แต่ชีวิตก็ไม่ได้ง่ายแบบนั้น เพราะแนวโน้มค่าเงินบาทตอนนี้ ถูกกำหนดด้วยทิศทางนโยบายของธนาคารกลางทั่วโลกเป็นหลัก โดยปีหน้ามีแนวโน้มที่เฟดจะทำ QE ในช่วงปลายไตรมาส 1 ดังนั้นไทยก็ต้องเตรียมรับมือ”

“ขณะที่มองค่าเงินบาทสิ้นปีอยู่ที่ 30.20 บาทต่อดอลลาร์ เชื่อว่าช่วง 3 เดือนหลังจากนี้ ธปท.จะดูแลไม่ให้ค่าบาทหลุดไปจากนี้ แต่ถ้าเฟดลดดอกเบี้ยอีก ไทยก็ต้องลดตามด้วย เพราะถ้าไม่ลด บาทก็อาจแข็งค่าหลุดไปถึงระดับ 29 บาทได้” นายจิติพลกล่าว

นายจิติพลกล่าวว่า อย่างไรก็ดี นโยบายที่จะผ่อนคลายเงินทุนไหลออกให้มากขึ้น คิดว่าคงไม่ได้ประสบผลสำเร็จมาก เช่นที่เคยทำมาแล้วเมื่อ 2-3 ปีก่อน เพราะในแง่ความเป็นจริง ขนาดของเงินทุนไหลออกมีสัดส่วนที่น้อยกว่าเงินทุนที่ไหลเข้ามาก ขณะที่การจับตาเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ที่เป็นผลมาจากผู้ส่งออกขายทองคำนั้น ต้องบอกว่าในตลาดการเงินเห็นผลกระทบกันมานานแล้ว หาก ธปท.ทำตรงนี้ก็เหมือนกับการเข้าไปดูแลแบบมีกลุ่มเป้าหมายชัดเจน

แนะเปลี่ยนนโยบายดูแลค่าเงิน

นายจิติพลกล่าวว่า ธปท.อาจจะต้องพิจารณาดำเนินนโยบายการเงินที่ต่างไปจากเดิม โดยใช้เครื่องมืออื่นเพิ่มเติมนอกเหนือไปจากดอกเบี้ยนโยบาย เช่น นโยบายที่เหมือนทำ QE นโยบายซื้อสินทรัพย์เสี่ยง ก็ต้องทำอย่างชัดเจน โปร่งใส หรือทำแบบประเทศสิงคโปร์ที่มีการกำหนดชัดเจนว่า ต้องการให้อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ระดับใด ในช่วงไหน ซึ่งสิงคโปร์ทำมานานเป็น 10-20 ปี โดยบอกว่าช่วงที่เศรษฐกิจดีมากก็จะใช้ค่าเงินแข็ง แต่เมื่อเศรษฐกิจแย่ก็จะปรับค่าเงินให้อ่อน เช่นเดียวกับจีน ก็มีลักษณะคล้ายกัน

“แต่ของไทย ตอนเศรษฐกิจดีก็ไปทำให้ค่าเงินอ่อน กลายเป็นว่านโยบายค่าเงินไปเป็นตัวคูณ แล้วพอส่งออกแย่เราทำอะไรไม่ได้ เพราะบาทแข็ง ทางเดียวที่จะรอดคือเราต้องโมเดิร์นไนซ์นโยบายการเงิน โดยหากจะซื้อเงินดอลลาร์ ก็บอกให้ชัดไปเลยว่าจะทำเท่าไหร่ต่อปี ตลาดจะได้ปรับตัวถูก” นายจิติพลกล่าว

หนุนบริหารโฟลว์ทองคำ

นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี (TMB Analytics) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า 3 มาตรการสกัดบาทแข็งที่ ธปท.เตรียมออกนั้น ในส่วนของการผ่อนคลายให้ออกไปลงทุนต่างประเทศ ไม่น่าจะช่วยได้มาก เนื่องจากการนำเงินออกไปลงทุนต่างประเทศ (TDI) มีสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับการลงทุนโดยตรงที่เข้ามา (FDI) และตอนนี้ไทยต้องการให้มีการลงทุนในประเทศมากกว่า สำหรับเรื่องทองคำ น่าจะเป็นการดูแลที่ถูกจุด จะช่วยลดแรงกดดันการแข็งค่าของเงินบาทได้

“ถ้าสามารถกระตุ้นให้ผู้ค้าทอง กับธนาคารที่ต้องทำ FX matching มากขึ้น โดยยังไม่ต้องแลกเป็นเงินบาท ถ้าทำตรงนี้มากขึ้น ยืดหยุ่นขึ้นน่าจะเวิร์กอยู่ เพราะยอดส่งออกทองคำมีสัดส่วนถึง 4% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด คิดเป็นมูลค่าส่งออก 1-2 แสนล้านบาท ซึ่งที่มีปัญหาเพราะว่าพอขายได้ดอลลาร์มา ผู้ค้าทองก็ต้องรีบแลกเป็นเงินบาท” นายนริศกล่าว

ส่วนการกระตุ้นให้มีการลงทุนนำเข้าสินค้าทุนในช่วงนี้ นายนริศกล่าวว่า ถ้าทำได้ก็จะช่วยได้ เพียงแต่ก็มีคำถามว่า ในภาวะตอนนี้คนจะลงทุนหรือไม่ ท่าทีของ ธปท.ตอนนี้ เป็นการส่งสัญญาณชัดเจนว่า จะไม่ยอมให้เงินบาทแข็งค่าไปจนหลุด 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หากเฟดลดดอกเบี้ยลงอีกในปีนี้ ก็อาจจะเห็นเงินบาทอยู่แถว 30.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐได้