AWC เกมเศรษฐี

คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดย สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์

วันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา ถือเป็นอีกหนึ่งประวัติศาสตร์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ บมจ.แอสเสท เวิรด์ คอร์ป หรือ AWC ของ “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” เข้าจดทะเบียนซื้อขายวันแรก ในฐานะหุ้นน้องใหม่ที่มีมูลค่าไอพีโอสูงสุดถึง 1.85 แสนล้านบาท

ADVERTISMENT

หุ้นเจ้าสัวไอพีโอเข้าตลาดย่อมไม่ธรรมดา เพราะ AWC ถือเป็นหุ้นใหญ่ที่เข้ามาเขย่า SET ที่ผ่านเกณฑ์พิเศษของตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถเข้าคำนวณในดัชนี SET50 และ SET100 ได้ทันที จากที่มีมาร์เก็ตแคปติด top 20 ของบริษัทในตลาดหุ้น หรือมีมาร์เก็ตแคปเกิน 1% พร้อม กับเขี่ย KKP และ BEAUTY หลุดออกไป

AWC เป็นอาณาจักรธุรกิจ ภายใต้การบริหารของนางวัลลภา ไตรโสรัส ลูกสาวคนที่สองของเจ้าสัวเจริญ พอร์ต ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจโรงแรม อสังหาฯเพื่อการพาณิชย์ อาคารสำนักงาน รวมทั้งศูนย์การค้าต่าง ๆ ซึ่งจากงบการเงิน ณ มิ.ย. 2562 AWC มีสินทรัพย์รวม 92,350.91 ล้านบาทและหนี้สินรวม 67,008.52 ล้านบาท

ขณะที่ปีที่ผ่านมาโชว์รายได้ 12,415.64 ล้านบาท แต่ตัวเลขกำไรสุทธิเพียง 489 ล้านบาท เรียกว่าเป็น “หุ้นใหญ่” แต่ “กำไรเล็ก” ทำให้อัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิ (P/E) สูงกว่า 200 เท่า เรียกง่าย ๆ ว่าราคาหุ้นค่อนข้างแพง ซึ่งนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่าราคาไอพีโอ 6 บาทนั้นเป็นราคาบวกอนาคตไปแล้ว แต่งานนี้เจ้าสัวเจริญก็ประสบความสำเร็จในการระดมทุนก้อนโตราว 4.8 หมื่นล้านบาท เข้ากระเป๋าเพื่อไปจ่ายหนี้และตุนเงินไว้สำหรับการลงทุนใหม่

ADVERTISMENT

สำหรับการนำ AWC เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นครั้งนี้ อาจเรียกว่าเป็น “เหล้าเก่าในขวดใหม่” เพราะเป็นการนำทรัพย์สินเดิมของตระกูลสิริวัฒนภักดี กลับเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นรอบใหม่ หลังจากเมื่อปี 2560 เจ้าสัวเจริญได้ซื้อคืนหน่วยลงทุนของ 3 กองทุนอสังหาฯ มูลค่ารวมกว่า 8 หมื่นล้านบาท และถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯไป

ครั้งนั้นหลายฝ่ายก็จับตาว่าเจ้าสัวกำลังจะทำอะไร สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือการเขย่าพอร์ตจัดระเบียบทรัพย์สิน และแต่งตัวใหม่เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และกลับมาระดมทุนในตลาดหุ้นอีกรอบ พร้อม ๆ กับความมั่งคั่งของเจ้าสัวที่เพิ่มมากขึ้น

ADVERTISMENT

และนอกจากส่ง AWC เข้าตลาดหุ้นแล้ว เจ้าสัวเจริญยังได้จัดทัพ “กลุ่มธุรกิจประกัน-การเงิน” ใหม่ด้วย โดยการนำบริษัท เครือไทย โฮลดิ้งส์ หรือ SEG เข้าจดทะเบียนตลาดหุ้นด้วยการแบ็กดอร์เมื่อ 30 ก.ค. 2562 ที่ผ่านมา สำหรับอาณาจักร SEG อยู่ภายใต้การบริหารของนายโชติพัฒน์ และนางอาทินันท์ พีชานนท์ (ลูกเขยและลูกสาวคนโตเจ้าสัวเจริญ) และในปีนี้ เจ้าสัวเจริญยังได้เขย่าพอร์ตธุรกิจ บมจ.เฟรเซอร์ส

พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) หรือ FPT บริษัทน้องใหม่ของตระกูล ที่มอบหมายให้นายปณต สิริวัฒนภักดี (ลูกชายคนเล็ก) ดูแล ซึ่งได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นด้วยการแบ็กดอร์เช่นกัน จากการซื้อ บมจ.ไทคอน อินดัสเทรียล เมื่อปลายปี 2561 และกลางปีที่ผ่านมาก็ได้โยก บมจ.แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ หรือโกลเด้นแลนด์ ธุรกิจอสังหาฯอีกขาของเจ้าสัวเข้ามาไว้ในพอร์ต FPT พร้อมกับตั้งเป้าปักธงให้ FPT ก้าวสู่ผู้นำอสังหาริมทรัพย์ที่ครบวงจรในประเทศและภูมิภาคอาเซียน

เรียกว่าช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เจ้าสัวเจริญมหาเศรษฐีของเมืองไทยได้จัดพอร์ต 3 กลุ่มธุรกิจใหม่ เข้ามาเสริมทัพกับ บริษัท เบอร์ลี่ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) ยักษ์อุปโภคบริโภค-ค้าปลีก ที่มีนายอัศวิน-นางฐาปณี เตชะเจริญวิกุล (ลูกเขยลูกสาว) กุมบังเหียน และบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ภายใต้การนำทัพของนายฐาปน สิริวัฒนภักดี

จากมูลค่าสินทรัพย์ทั้ง 5 กลุ่มธุรกิจที่อยู่ภายใต้การบริหารของลูกสาวและลูกชายทั้ง 5 คน คร่าว ๆ ก็ประมาณ 1 ล้านล้านบาท การเขย่าพอร์ตจัดโครงสร้างธุรกิจใหม่ พร้อมกับการจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯทั้งหมด นอกจากเป็นช่องทางระดมทุนสร้างการเติบโต อีกมุมก็คงเป็นการจัดการสมบัติจำนวนมหาศาล พร้อมส่งต่อให้ทายาทแต่ละคนก่อนที่เจ้าสัวจะวางมือนั่นเอง