เอกชนแห่ออกบอนด์ 8 แสนล. 4 บจ.งัดหุ้นกู้ตลอดชีพเติมทุน

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยชี้ปีนี้เอกชนยังแห่ออกหุ้นกู้ ยืนเป้าสิ้นปีทะลุ 1 ล้านล้านบาท หลัง 9 เดือน ยอดออกกว่า 8.33 แสนล้านบาท เผยแบงก์แห่ออกพุ่ง 30% ขณะที่หลายบริษัทแห่ออกหุ้นกู้ตลอดชีพ คาดหนีเกณฑ์บัญชีใหม่ปีหน้าเลิกนับ “เป็นทุน”

นายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า สมาคมยังคงเป้าหมายมูลค่าการออกตราสารหนี้ภาคเอกชน (หุ้นกู้) ปีนี้จะทะลุ 1 ล้านล้านบาท หลัง 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.2562) อยู่ที่ 833,427 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.79% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน โดยกลุ่มธนาคารพาณิชย์ออกหุ้นกู้เพิ่ม 30% หรือ 245,749 ล้านบาท และ กลุ่มภาคธุรกิจที่แท้จริง (real sector) ออกเพิ่มขึ้น 587,677 ล้านบาท

ทั้งนี้ ช่วงไตรมาส 4/2562 จะมีหุ้นกู้ครบกำหนดไถ่ถอนและจะมีการออกชดเชย (roll over) มูลค่าประมาณ 123,251 ล้านบาท โดยช่วงเดือน ต.ค.นี้ เห็นการออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน (หุ้นกู้ตลอดชีพ) แล้ว 4 บริษัท ได้แก่ 1.บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) 2.บมจ.อินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL) 3.บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) และ 4.บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) ซึ่งมีวงเงินรวมกันอยู่ที่ประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท

“ช่วงนี้ดอกเบี้ยเป็นขาลง ดังนั้นหลายบริษัทที่ต้องโตจากการขยายธุรกิจและการซื้อกิจการ แต่ไม่ต้องการเพิ่มทุนจะใช้โอกาสมาออกหุ้นกู้ตลอดชีพ ขณะเดียวกัน ไม่แน่ใจว่าเป็นจังหวะที่ปีหน้าจะเปลี่ยนระบบบัญชีใหม่ด้วยหรือไม่ ที่อาจจะไม่ได้นับเป็นทุน จึงรีบมาออกกัน” นายธาดากล่าว

ทั้งนี้ ช่วง 9 เดือนแรก ตลาดตราสารหนี้ไทยโดยรวมเติบโต 3.7% มีมูลค่าคงค้างรวมเพิ่มขึ้นเป็น 13.27 ล้านล้านบาท จากสิ้นปี 2561 อยู่ที่ 12.79 ล้านล้านบาท

นายธาดากล่าวด้วยว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย (บอนด์ยีลด์) ลดลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เมื่อวันที่ 29 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยบอนด์ยีลด์อายุ 5 ปี อยู่ที่ 1.34% และอายุ 10 ปี อยู่ที่ 1.43% ซึ่งหากในช่วงที่เหลือของปีนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 1 ครั้ง จะทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นขยับลดลงตาม ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวอยู่ในระดับต่ำสุดแล้ว น่าจะมีโอกาสปรับตัวลงได้อีกไม่มาก แต่มีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นได้ หากการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนมีแนวโน้มจะตกลงกันได้