หุ้นเจ้าสัว AWC เขย่า SET สร้างสีสันตลาดหุ้นไทยปลายปี

เปิดเทรดวันแรกอย่างยิ่งใหญ่ไปแล้ว เมื่อวันที่ 10 ต.ค.ที่ผ่านมา สำหรับหุ้นใหญ่ที่ใคร ๆ ต่างจับตา “AWC” หรือ บมจ.แอสเสท เวิรด์ คอร์ป ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในเครือ “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” ภายใต้การบริหารของ “วัลลภา ไตรโสรัส” บุตรสาวคนที่ 2 ของเจ้าสัว ที่นั่งแท่นประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ของบริษัท

ซึ่งนอกจากเจ้าสัวเจริญที่ควง “คุณหญิงวรรณา” ภรรยา ร่วมเป็นเกียรติแสดงความยินดีแล้ว ยังมีบุคคลสำคัญร่วมพิธีเปิดเทรดอย่างคับคั่ง อาทิ “เดชา ตุลานันท์” ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ, “ปรีดี ดาวฉาย” กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย, “บรรยง พงษ์พานิช” ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน และกลุ่มธุรกิจการเงิน เกียรตินาคินภัทร, “อาทิตย์ นันทวิทยา” ประธานกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์

โดยราคาเปิดเทรดวันแรกของหุ้น AWC อยู่ที่ 6 บาทต่อหุ้น “เท่ากับราคาจอง”

ทั้งนี้ AWC มีทุนจดทะเบียน 32,000 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท ประกอบด้วย หุ้นสามัญเดิม 24,000 ล้านหุ้น และหุ้นสามัญเพิ่มทุน 8,000 ล้านหุ้น แบ่งเป็น หุ้นสามัญเพิ่มทุน จำนวน 6,957 ล้านหุ้น และจัดสรรหุ้นสามัญส่วนเกิน 1,043 ล้านหุ้น ในราคาเสนอขายหุ้นละ 6 บาท มีมูลค่าระดมทุนรวม 41,742 ล้านบาท (ไม่รวมหุ้นที่จัดสรรส่วนเกิน) และมีมูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO (เสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก) อยู่ที่ 185,742 ล้านบาท ซึ่งหลัง IPO บริษัทมีผู้ถือหุ้นใหญ่ ได้แก่ กลุ่มครอบครัวนายเจริญ สิริวัฒนภักดี ถือหุ้นรวม 77.5% ของทุนจดทะเบียนที่เรียกชำระแล้ว

“วัลลภา” แถลงว่า บริษัทมีแผนจะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนจากการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในครั้งนี้ไปลงทุนในการเข้าซื้อกิจการเพิ่มเติมรวม 12 แห่ง ประกอบด้วย โรงแรมที่เปิดดำเนินการแล้ว 4 แห่ง โรงแรมที่อยู่ระหว่างการพัฒนา 6 แห่ง และอสังหาริมทรัพย์มิกซ์ยูส (mixed-use properties) ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาอีก 2 แห่ง นอกจากนี้จะนำเงินที่เหลือไปชำระคืนเงินกู้ธนาคารและพัฒนาทรัพย์สินของบริษัท โดยที่ AWC มีนโยบายจ่ายเงินปันผลไม่ต่ำกว่า 40% ของกำไรสุทธิ

ขณะที่ “วีณา เลิศนิมิตร” กรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ (SCBS) ที่ปรึกษาทางการเงิน AWC กล่าวว่า นักลงทุนที่เข้ามาซื้อหุ้น AWC เป็นการซื้อเพื่อเข้ามาลงทุนจริง ๆ หรือซื้อและถือในระยะยาว รวมถึงยังมีนักลงทุนใหม่ที่รอเข้ามาซื้อ ถือว่าสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนได้มากพอสมควร ในส่วนของการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (greenshoe) จะใช้ได้ในกรณีที่ราคาหุ้นในวันที่เข้าซื้อขายต่ำกว่าราคาจองซื้อ IPO เท่านั้น ดังนั้น หุ้น AWC ที่เปิดบวกไม่ได้มาจากการใช้เครื่องมือใด ๆ แต่เป็นแรงซื้อของนักลงทุนจริง ๆ

ขณะที่การตอบรับจากนักลงทุนสถาบัน ในส่วนของนักลงทุนสถาบันต่างประเทศจะเห็นว่า นักลงทุนหลักโดยเฉพาะเจาะจง (cornerstone investor) ที่เข้ามาจะเป็นนักลงทุนสถาบันรายใหญ่ เช่น กองทุนความมั่งคั่งของรัฐบาลสิงคโปร์ (GIC Private Limited) ขณะที่นักลงทุนสถาบันของไทยมีความเชื่อมั่นในการลงทุนระยะยาว

“ทั้งเรื่องของขนาดและตัวธุรกิจเองน่าจะได้รับความสนใจจากนักลงทุน ขณะที่ทางบริษัทเองมีแผนการเติบโตที่ชัดเจน โดยหลังจากการระดมทุนแล้วมีแผนจะนำเงินส่วนหนึ่งไปซื้อสินทรัพย์เข้ามาอีก ซึ่งจะช่วยให้กระแสเงินสด (EBITDA) และกำไรเติบโตขึ้นทันที นอกจากนี้ AWC ยังมีสิทธิที่จะซื้อโครงการในอนาคต เพราะฉะนั้น ปัจจัยที่รับประกันโอกาสในการเติบโตยังมีอีกมากมาย” นางวีณากล่าว

มุมมองจาก “มงคล พ่วงเภตรา” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคทีบี (ประเทศไทย) ต่อกรณี AWC เทรดวันแรก มีราคาเปิดอยู่ที่ 6 บาท เท่ากับราคาจองว่า เนื่องจาก AWC เป็นหุ้นที่มีขนาดใหญ่ ขณะเดียวกันมีอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E) ที่ค่อนข้างสูงที่ 277.6 เท่า ซึ่งเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของหุ้นกลุ่มเดียวกัน จึงอาจจะส่งผลให้นักลงทุนไม่ค่อยเข้ามาเล่นกันมากนัก ประกอบกับสภาวะตลาดหุ้นช่วงนี้ไม่ค่อยดีด้วย

“จริง ๆ แล้ว ราคาที่เหมาะสมของแต่ละโบรกฯมองกัน ก็ไม่ได้หนีจากจุดนี้มากนัก แต่ทั้งนี้ อาจจะตอบไม่ได้ว่า ถ้าหากไม่มี greenshoe (การจัดสรรหุ้นส่วนเกิน) อีกกว่า 1,000 ล้านหุ้น คอยหนุนไม่ให้ราคาหุ้นต่ำจอง จะออกมาเป็นอย่างไร ซึ่งนอกจากปัจจัยตัวหุ้น AWC เองแล้ว ช่วงนี้ตลาดหุ้นไทยก็ผันผวน หุ้นที่มีอยู่เดิมก็ไม่ค่อยเทรดกันอยู่แล้ว อย่างไรก็ดี หลังจากนี้ มองว่าทิศทางราคาหุ้น AWC ก็ยังคงดีอยู่ เพราะมี greenshoe ค้ำราคาไปได้ระยะหนึ่ง” นายมงคลกล่าว

อย่างไรก็ตาม หลังสิ้นวัน ปิดตลาดเทรดวันแรก ตลท.แจ้งว่า หุ้น AWC จะเข้าคำนวณดัชนี SET50 และ SET100 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค. 2562 เป็นต้นไป และนำหลักทรัพย์ของธนาคารเกียรตินาคิน (KKP) และ บมจ.บิวตี้ คอมมูนิตี้ (BEAUTY) ออกจากดัชนี SET50 และ SET100 ไปอยู่ในกลุ่มหลักทรัพย์สำรอง (reserve list) ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์การคัดเลือกหลักทรัพย์ระหว่างรอบที่กำหนดไว้แล้ว


ถือได้ว่า AWC เป็นหุ้นใหญ่ที่เข้ามาเขย่า SET ในช่วงที่ตลาดหุ้นไทยค่อนข้างซบเซา ให้ดูมีสีสันขึ้นมาได้บ้าง