“แบงก์-ธปท.” ห่วง SME อ่วม NPL ไม่หยุด-ยืดหยุ่นจัดชั้นหนี้ช่วยอุ้ม

“แบงก์-ธปท.” ห่วงหนี้เสียเอสเอ็มอียังไหลต่อทั้งปีนี้-ปีหน้า “ปรีดี” แจงทุกภาคส่วนพยายามช่วยผู้ประกอบการ ชี้แบงก์ต้องเข้าไปแก้ปัญหารายกรณีที่มีปัญหา ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ NPL เอสเอ็มอียังมีแนวโน้มไม่ดีต่อเนื่องถึงปี’63 ขณะที่แบงก์ชาติออกแนวปฏิบัติให้ธนาคารปรับโครงสร้างหนี้-ยืดหยุ่นจัดชั้นช่วยลูกค้าก่อนเข้าสู่มาตรฐานบัญชีใหม่ 1 ม.ค. 63 แถมลดภาระตั้งสำรอง

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย และกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยว่า ปัจจุบันลูกค้าสินเชื่อธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีถูกหลายปัจจัยต่าง ๆ เข้ามากระทบ ทั้งเงินบาทที่แข็งค่า ซึ่งคนกังวลกันว่าหากแข็งค่านาน จะส่งผลกระทบมากขึ้น ขณะที่ความผันผวนต่าง ๆ ทั้งจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่ยังเห็นทิศทางไม่ชัดเจนว่าจะตกลงกันได้แบบใด ความผันผวนด้านดอกเบี้ยที่นโยบายดอกเบี้ยในต่างประเทศอาจจะส่งผลมาถึงการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยในประเทศ และมาตรฐานทางบัญชีใหม่ (TFRS9) ที่เปลี่ยนไป ซึ่งในสภาวะเช่นนี้ก็ต้องระมัดระวังในการจะปรับเปลี่ยน

“จริง ๆ ก็เป็นปกติที่การทำธุรกิจจะต้องเจอผลกระทบเรื่องนั้นเรื่องนี้เข้ามา แต่ก็ต้องระมัดระวังในการจะดูแลธุรกิจ โดยเฉพาะด้านการเงิน ถ้าขาดสภาพคล่องก็จะมีปัญหา แต่ภาวะเช่นนี้ ผมคิดว่าทุกภาคส่วนก็จะพยายามช่วยกัน โดยการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่งสัญญาณออกมาให้ช่วยเหลือลูกหนี้เอสเอ็มอีถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่ธนาคารพาณิชย์ก็ต้องปรับตัวด้วยความระมัดระวัง เพราะกฎเกณฑ์มีการเปลี่ยนแปลง พอเปลี่ยน ถ้าปรับไปแล้วเกิดผลกระทบทางลบ ก็ไม่มีประโยชน์อะไร” นายปรีดีกล่าว

ส่วนแนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของเอสเอ็มอีในปัจจุบันนั้น นายปรีดีกล่าวว่า แต่ละธนาคารก็จะมีตัวเลขแตกต่างกันไป ขึ้นกับการปล่อยสินเชื่อของแต่ละธนาคาร ซึ่งเวลาปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้าก็ปล่อยกันเป็นหลักแสนราย ดังนั้น เมื่อลูกค้าเจอผลกระทบต่าง ๆ โดยเฉพาะในภาวะที่ขายของไม่ได้ มักจะมองกันว่าเป็นการขาดสภาพคล่อง แต่จริง ๆ คงต้องลงไปดูปัญหาของแต่ละกิจการว่าเป็นอย่างไรกันแน่ โดยธนาคารพาณิชย์ก็คงเข้าไปดูเพื่อแก้ไขเป็นราย ๆ ไป

นายเชาว์ เก่งชน ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า สถานการณ์ NPL ในกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีขณะนี้ก็เป็นไปตามสภาวะเศรษฐกิจโลก และกำลังซื้อในประเทศที่ชะลอตัว รวมไปถึงปีหน้าก็อาจจะยังไม่ดีขึ้นมากนัก ซึ่งขึ้นกับปัจจัยสงครามการค้าเป็นหลัก โดยที่ผ่านมาทั้งสงครามการค้า และเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง เริ่มส่งผลให้ภาวะการจ้างงานของไทยย่ำแย่ จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติชี้ว่า ผู้ที่ไม่มีงานทำหรือตกงานจะอยู่ในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการเป็นหลัก โดยคาดว่าเป็นผลกระทบจากการที่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องลดต้นทุนผ่านการลดการจ้างงาน ซึ่งการจ้างงานที่ลดลงจะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อในประเทศหรือการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนต่อไป

“หากปัจจัยในช่วงที่เหลือของปีนี้เป็นไปตามที่เราคาด เชื่อว่าสถานการณ์ NPL ของเอสเอ็มอีจะยังไม่ดีขึ้น ไปจนถึงปีหน้า เพราะธุรกิจได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ตาม ภายในเดือน ต.ค.นี้ คาดว่าปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อเศรษฐกิจ ทั้งเรื่องของสงครามการค้า และเบร็กซิตจะมีความชัดเจนขึ้น ซึ่งจะทำให้สามารถประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปีหน้าได้ชัดเจนขึ้น” นายเชาว์กล่าว

นอกจากนี้ นายเชาว์กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีผู้ซื้อสินค้าเป็นกลุ่มเกษตรกรจำนวนมาก รวมถึงกลุ่มที่ขายสินค้าในห้างสรรพสินค้า หรือมีลูกค้าที่ทำงานอยู่ในภาคอุตสาหกรรมสูง น่าจะได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อที่ลดลง

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 1 ธปท. กล่าวว่า จากภาวะเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอน ทั้งจากเรื่องสงครามการค้า และภาวะภัยธรรมชาติในประเทศที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ธปท.จึงได้สื่อสารไปยังสถาบันการเงินผู้ปล่อยสินเชื่อ ให้ช่วยลูกหนี้แก้ไขปัญหาหรือปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้เอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบและยังมีศักยภาพให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้

โดยก่อนหน้านี้ ธปท. ได้ออกหนังสือเวียน เมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2562 ไปยังสถาบันการเงิน เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และแนวนโยบายการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยเฉพาะในส่วนที่สถาบันการเงินจะต้องปฏิบัติตามมาตรฐาน TFRS9 ที่จะเริ่มใช้วันที่ 1 ม.ค. 2563 เพื่อส่งเสริมให้สถาบันการเงินปรับการจัดชั้นลูกหนี้ให้ยืดหยุ่นมากขึ้น โดยเปิดโอกาสให้ลูกค้าที่มีแนวโน้มเครดิตดีขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีให้สามารถขอสินเชื่อใหม่เพื่อใช้ในการดำเนินธุรกิจต่อไปได้