“ซุปเปอร์ริช” พลิกตำราสู้ สมรภูมิ “ธุรกิจแลกเงิน” แข่งดุ

สัมภาษณ์

จากยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวเมืองไทยที่เติบโตขึ้นทุกปี ในทางกลับกันคนไทยก็แห่ออกไปเที่ยวต่างประเทศกัน จนเริ่มเห็นธนาคารพาณิชย์เข้าสู่สมรภูมินี้มากขึ้น ผลกระทบต่อธุรกิจรับแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศจะเป็นอย่างไร “ประชาชาติธุรกิจ” ได้เปิดอกคุยกับ “ปิยะ ตันติเวชยานนท์” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซุปเปอร์ริช อินเตอร์เนชั่นแนลเอ็กซ์เชนจ์ (1965) จำกัด หรือ “ซุปเปอร์ริช สีส้ม” มานำเสนอ

ธุรกิจแลกเงินปีนี้ยังไปได้ดี

“ปิยะ” ฉายภาพธุรกิจรับแลกเงินปีนี้ แม้ช่วงที่ผ่านมาจะพูดกันว่านักท่องเที่ยวต่างชาติชะลอลงไป แต่ยอดแลกเงินของซุปเปอร์ริช สีส้มไม่ได้ตก ซึ่งอาจจะด้วยสาขาของบริษัทที่มีมาก คือ ใน กทม.มี 41 สาขา ต่างจังหวัด 10 สาขา และต่างประเทศมี 2 สาขา จึงตอบโจทย์ลูกค้า

“ผมมองร้านแลกเงินเป็นคอนวีเนี่ยนสโตร์ เหมือนร้านสะดวกซื้อ”

เขาบอกว่า เงินที่เข้ามาแลกเปลี่ยนอันดับ 1 ยังคงเป็นดอลลาร์สหรัฐ ตามด้วยเงินเยน ยูโร ดอลลาร์ฮ่องกง หยวน และดอลลาร์สิงคโปร์ตามลำดับ ซึ่งที่น่าสนใจคือ เงินหยวนตกมาอยู่อันดับ 5 จากปีที่แล้วที่อยู่อันดับ 2-3 เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนใช้ระบบอีเพย์เมนต์กันมากขึ้น

เมื่อพูดถึงการทำกำไร “ปิยะ” บอกว่า ปีนี้ยังไปได้จากกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงการที่รัฐบาลโปรโมตท่องเที่ยวเมืองรอง โดยช่วง 8 เดือนแรก (ม.ค.-ส.ค. 62) ยอดแลกเงินโต 30% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือคิดเป็นมูลค่าการซื้อขายราว 6.7 หมื่นล้านบาท จำนวนลูกค้า 1.84 ล้านคน เฉลี่ย 2.3 แสนคนต่อเดือน โดยตลอดทั้งปีนี้คาดว่าปริมาณการซื้อขายจะทะลุ 1 แสนล้านบาท เพิ่มจากสิ้นปี 2561 ที่ทำได้ราว 9 หมื่นล้านบาท ซึ่งขณะนี้ก็เริ่มเข้าช่วงไฮซีซั่น ดังนั้น ช่วง 4 เดือนสุดท้ายที่เหลือน่าจะมียอดเข้ามาอีกเดือนละราว 1.5 หมื่นล้านบาท

“การทำกำไรในแง่วอลุ่ม (มูลค่า) ยังโตได้ราว 10% แต่มาร์จิ้นบางลงเพราะตลาดแข่งขันสูงขึ้น ย้อนไป 7 ปีที่แล้วผมเคยทำมาร์จิ้นได้ถึง 20 สตางค์ต่อ 1 ดอลลาร์ แต่เดี๋ยวนี้เหลือไม่เกิน 5 สตางค์ ตอนผมเริ่มเปิดสาขาไม่ต้องแข่งกับใคร แต่ตอนนี้ใคร ๆ ก็เริ่มมาเปิดสาขา ร้านขายยายังเปิดแลกเงินเลย”

เจอดิสรัปต์หนักขึ้น

อย่างไรก็ตาม “ปิยะ” เล่าว่า ตอนนี้ทุกคนในธุรกิจนี้รู้ถึงแนวโน้มการถูกดิสรัปต์ที่เข้ามาเร็วมาก จากเดิมที่ธนาคารพาณิชย์ไม่สนใจทำเรื่องการรับแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศมาก แต่ตอนนี้แบงก์ใหญ่ ๆ ก็ออกมาปูพรมทำเรื่องเงินดิจิทัลกันมากขึ้น ขณะที่บริษัทรับแลกเงินถูกจำกัดด้วยกฎหมาย

“พวกเราถูกจำกัดให้ทำในรูปของ physical คือต้องเป็นเงินสด ทำให้การจะปรับตัวไปทางด้านดิจิทัลเป็นเรื่องค่อนข้างยากถ้าเทียบกับธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจริง ๆ แล้วเรื่องดิจิทัลเราคิดทำมาก่อนใคร แต่พอไปขออนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็บอกว่าติดเรื่องกฎหมายจึงทำอะไรไม่ได้เยอะ”

ส่วนการทำบัตรแลกเงิน (พรีเพด) ที่บริษัทเริ่มมาตั้งแต่ปลายปี 2561 นั้น “ปิยะ” บอกว่า นี่เป็นเรื่องดิจิทัลอย่างเดียวที่ทำได้ จับกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาเที่ยว โดยบริษัทร่วมกับมาสเตอร์การ์ด ซึ่งเวลาออกบัตรจะให้ลูกค้ายืนยันตัวตน (KYC) เพื่อตรวจสอบรายชื่อและการใช้จ่ายผ่านบัตรนี้ ยอดเงินจะถูกกำหนดเพดานสูงสุดไว้ สูงสุดไม่เกิน 1.5 แสนบาท แต่เติมเงินเพิ่มได้ รวมแล้วไม่เกิน 3 แสนบาท/เดือน

“ผลตอบรับยังไม่มาก ยังไม่ถึง 5% ของลูกค้าทั้งหมดที่เรามี เพราะการทำมาร์เก็ตติ้งกับชาวต่างชาติค่อนข้างยาก ขณะที่ลูกค้าเราส่วนใหญ่เป็นคนไทย 65% ต่างชาติ 45% ซึ่งจริง ๆ แล้วบัตรนี้คนไทยก็ใช้ได้ ถ้ามองในรูปการจำกัดความเสี่ยง อย่างถ้าเป็นบริษัทใหญ่ ๆ ที่ต้องเติมน้ำมันรถ เวลาเดินสายต่างจังหวัด หรือไปไหนก็ใช้ได้ ช็อปปิ้งออนไลน์ก็ได้ ตอนนี้ก็พยายามจะให้คนไทยเห็นประโยชน์ของบัตรใบนี้”

ทั้งนี้ ตั้งเป้าออกบัตรใหม่ไว้ที่ 5 หมื่นใบ ปัจจุบันทำได้แล้ว 1.5-1.6 หมื่นใบ แต่ยอดใช้จ่ายยังอยู่แค่เดือนละ 1.5 ล้านบาท ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มโปรโมตในต่างประเทศมากขึ้น ส่วนบัตรที่แลกเงินไปใช้จ่ายในต่างประเทศ เมื่อคิดอัตราแลกเปลี่ยนแต่ละประเทศที่ต้องเจอแล้วไม่คุ้ม

ไม่เร่งขยายสาขาเพิ่ม

“ปิยะ” บอกว่า การขยายสาขาขณะนี้ยังทำแบบกล้า ๆ กลัว ๆ โดยที่ผ่านมาบางสาขาก็ปิดไปบ้าง เพราะบางจุดก็มีรถโมบายของแบงก์มาจอดรับแลกเงินอยู่ปากซอย ซึ่งรถโมบายธุรกิจแลกเงินก็ทำไม่ได้ เพราะใบอนุญาตกำหนดให้ต้องแลกเปลี่ยนในจุดที่ขออนุญาตไว้เท่านั้น

“การขอใบอนุญาตเราก็ทำได้แค่ปีละ 4 ครั้ง คือเป็นรายไตรมาส เช่น ขอเดือน ธ.ค. อาจจะได้ตอน มี.ค.-เม.ย. ทีนี้พอสัญญาเช่าพื้นที่ออก เราต้องจ่ายค่าเช่าแล้ว ปัจจุบันก็ตกเดือนละเป็นแสนบาท ไม่ใช่ถูก ๆ อย่างบนสถานีรถไฟฟ้า ค่าเช่าตอนนี้ 1.7 แสนบาท/เดือนแล้ว จากที่เราทำมาตั้งแต่ค่าเช่า 6 หมื่นบาท ก็ทำให้รายได้เราลดลงไป”

เบรกแผนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ

ส่วนที่เคยมีแผนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ปีนี้ “ปิยะ” บอกว่า ยังอยู่ในแผน แต่พอมีเรื่องดิสรัปต์เข้ามาทำให้ต้องชะลอแผนไปก่อน

ขอปรับเกณฑ์รุกดิจิทัลแก้ดิสรัปต์

แม่ทัพใหญ่ซุปเปอร์ริช สีส้ม ยอมรับว่า จากกรณีศึกษาธุรกิจต่าง ๆ ที่ต้องล้มไปเนื่องจากเจอดิสรัปต์ อาทิ ฟิล์มโกดัก หรือสายการบินอย่างเจแปน แอร์ไลน์ส ทางบริษัทไม่อยากเป็นเช่นนั้น และพยายามจะขอให้มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อปรับปรุงเกณฑ์ให้สามารถทำธุรกิจด้วยช่องทางดิจิทัลได้ เพราะทุกวันนี้นวัตกรรมสมัยใหม่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ว่าจะคิวอาร์โค้ด หรือบัตรอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ

“สิ่งที่ผมพยายามจะมูฟไป ก็คือ อยากใส่ Fx (เงินตราต่างประเทศ) ลงไปในบัตร แทนที่จะเป็นเงินไทยอย่างเดียว ไม่อย่างนั้นเราก็ไม่มีทางออก แต่ก็ติดเรื่องข้อกฎหมาย อยากเดินแต่เดินไม่ได้ หรืออย่างพวกตู้แลกเงินเราก็คิดมานานแล้ว เข้าไปคุยกับ ธปท.มากว่า 2 ปีแล้ว แต่ยังไม่ได้รับคำตอบว่าทำได้หรือไม่ได้ จึงไม่กล้าลงทุน ซึ่งปัจจุบันยังยึดตามกฎหมายแลกเงิน ปี 2485 ถ้ามีการแก้ไข ซึ่งทุกอย่างเราเตรียมไว้หมดแล้ว ถ้าอนุญาตก็ทำได้ทันที แต่ถ้าไม่มีการแก้ไขอะไร พวกผมก็คงเป็นเหมือนโทรศัพท์โนเกียที่รู้ตัว พยายามปรับตัว แต่ก็ไม่ทัน ส่วนของผมพยายามปรับตัว แต่ติดข้อกฎหมาย” แม่ทัพใหญ่ซุปเปอร์ริช สีส้มทิ้งท้าย