“สรรพสามิต​” เล็งกำหนดภาษีความเค็ม​ คุมบริโภคไม่เกิน​ 2​-3​ พันมิลลิกรัม​/วัน

กรมสรรพสามิต เล็งกำหนดภาษีความเค็ม​ คุมบริโภคไม่เกิน​ 2​-3​ พันมิลลิกรัม​/วัน ชี้อยู่ระหว่างหารือ อย. คาดปลายปี’62 ได้ข้อสรุป จ่อจัดเก็บภาษีเฉพาะโซเดียมปรุงรส พร้อมให้เวลาผู้ประกอบการปรับตัว 1-2 ปี

นายณัฐกร อุเทนสุต ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี กรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ภาษีความเค็มที่กรมฯ คิดจะจัดเก็บภาษี ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและอยู่ในขั้นตอนการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ว่าควรจะพิจารณาค่าโซเดียมบนฉลากอาหารที่มาตรฐานความเค็มอยู่ในระดับปริมาณ 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน, 2,400 มิลลิกรัมต่อวัน หรือ 3,000 มิลลิกรัมต่อวัน เนื่องจากค่ามาตรฐานโซเดียมบนฉลากอาหารที่ใช้อยู่ปัจจุบันยังไม่ได้พิจารณาตามหลักการขององค์การอนามัยโลก (WHO) 100%

“ในการกำหนดมาตรฐานนั้น อย.ยังคำนึงถึงผลกระทบของอุตสาหกรรมอยู่ อย่างไรก็ดี ท้ายที่สุดอาจจะใช้ค่ามาตรฐานจาก WHO ที่ขณะนี้ได้ปรับค่ามาตรฐานการบริโภคความเค็มอยู่ที่ 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน จาก 2,400 มิลลิกรัมต่อวัน แต่ถึงกระนั้นก็จะต้องให้เวลาผู้ประกอบการปรับตัว 1-2 ปี โดยคาดว่าภายในปีนี้จะได้ข้อสรุป” นายณัฐกร กล่าว

นายณัฐกร กล่าวว่า หลังจากคำนวณปริมาณความเค็มที่ WHO กำหนดไว้ที่ 2,000 มิลลิกรัมต่อวันแล้ว พบว่าผู้บริโภคไม่ควรทานความเค็มเกิน 600 มิลลิกรัมต่อมื้อ และถ้าผู้ประกอบการระบุค่าโซเดียมบนฉลากอาหารที่ปริมาณ 600 มิลลิกรัม ก็อาจจะได้รับการละเว้นจากการจัดเก็บภาษีความเค็ม อย่างไรก็ตาม ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะใช้มาตรฐานนี้ในการจัดเก็บภาษีความเค็มหรือไม่ เนื่องจากการพิจารณาปริมาณความเค็มแตกต่างจากน้ำตาล ที่กรมฯ จัดเก็บภาษีความหวาน ซึ่งในความเค็มนั้นยังมีสัดส่วนของโซเดียมถนอมอาหาร และโซเดียมในการปรุงรส เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องพิจารณาสัดส่วนให้เหมาะสม โดยกรมฯ จะพิจารณาการเก็บภาษีเฉพาะโซเดียมในการปรุงรสเท่านั้น


อย่างไรก็ดี พบว่าในผลิตภัณฑ์อาหารของไทยส่วนใหญ่ 60% มีปริมาณความเค็มเกินมาตรฐานที่ WHO กำหนดไว้ 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน ส่วนใหญ่จะเป็นประเภทของขบเคี้ยว บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โดยเฉพาะบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่เป็นรสแซบค่าความเค็มจะเกินมาตรฐาน รวมทั้งผลิตภัณฑ์ปรุงรสที่มีส่วนผสมของโซเดียม เป็นต้น ซึ่งกรมฯ จะเข้าไปดูว่าผลิตภัณฑ์อะไรบ้าง ที่สามารถผลักดันให้ลดโซเดียมต่ำลงได้ และจะพยายามทำ ทั้งนี้ นโยบายของรัฐบาลไม่ได้ต้องการจัดเก็บรายได้เพียงเท่านั้น แต่ต้องการสนับสนุนให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมลดปริมาณโซเดียมลง เพื่อให้ประชาชนบริโภคสินค้าที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ หรือเป็นโทษให้น้อยที่สุด