“อลิอันซ์” งัดไอทีเสริมแกร่ง ขายผ่านแบงก์ดันเบี้ยโต 25%

“อลิอันซ์” เปิดแผนรุกครึ่งปีหลัง งัด “ไอที” เสริมแกร่งช่องทางแบงก์แอสชัวรันซ์ มั่นใจเบี้ยประกันรวมผ่านแบงก์โต 25% พร้อมยืนเป้าสิ้นปีนี้โกยยอดรวมผ่านทุกช่องทางสูง 3.25 หมื่นล้านบาท

นายไบรอัน สมิธ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต เปิดเผยว่า ปีนี้บริษัทตั้งเป้าเบี้ยประกันชีวิตรับรวมทั้งหมดอยู่ที่ 32,500 ล้านบาท และเบี้ยประกันรับปีแรกจำนวน 6,500 ล้านบาท แม้ว่าในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา (ม.ค.-มิ.ย. 60) บริษัทจะมีเบี้ยประกันรับปีแรกขายผ่านแบงก์แอสชัวรันซ์ที่ 990 ล้านบาท ลดลงกว่า 11.92% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีเบี้ยประกัน 1,124 ล้านบาท ขณะที่เบี้ยรับรวมขายผ่านแบงก์อยู่ที่ 5,371 ล้านบาท ยังคงเติบโตเพิ่มขึ้น 12.13%

โดยแผนงานในครึ่งปีหลัง บริษัทจะเร่งการเติบโตด้วยการพัฒนาเครื่องมือการขายประกันแบบดิจิทัล ซึ่งจะช่วยเจ้าหน้าที่แบงก์แนะนำแบบประกัน (โปรดักต์) ได้ตามความต้องการของลูกค้า โดยกระบวนการทั้งหมดนี้จะทำผ่าน iPad เช่น การกรอกใบสมัครอิเล็กทรอนิกส์ ส่งใบเสนอขาย (Quotation) ที่ถูกต้องทางอีเมล์ให้ลูกค้า เพื่อให้ลูกค้าได้รับข้อมูลอย่างถูกต้อง โปร่งใส และลดขั้นตอนการทำงานที่ยุ่งยากเพื่อมุ่งสู่การทำงานแบบไร้กระดาษ รวมทั้งจะมีการปรับโปรดักต์ที่ขายผ่านแบงก์แอสชัวรันซ์ จากประกันออมทรัพย์ที่มีการการันตีเงินได้ เปลี่ยนมาเป็นประกันคุ้มครองชีวิตและสุขภาพ ซึ่งมีเบี้ยประกันเฉลี่ยที่ต่ำกว่า แต่ลูกค้าได้รับความคุ้มครองสูงขึ้น

“ปัจจุบันแม้ว่ายอดขายประกันผ่านแบงก์แอสชัวรันซ์จะชะลอตัวลง และทำให้เห็นบริษัทประกันก็หันมาสนใจขายโปรดักต์คุ้มครองทั้งชีวิตและสุขภาพกันมากขึ้น ซึ่งมีเบี้ยประกันเฉลี่ยที่ต่ำกว่า แต่ลูกค้าได้รับความคุ้มครองสูงขึ้น ทางเราก็มั่นใจว่าในช่วงครึ่งปีหลังเบี้ยประกันชีวิตรับรวมขายผ่านช่องทางแบงก์แอสชัวรันซ์จะเติบโตที่ 25% และมีสัดส่วนเบี้ยประกันรายใหม่ประมาณ 30% ตามเป้าหมายที่วางไว้อย่างแน่นอน” นายไบรอันกล่าว

ทั้งนี้ บริษัทมียอดเบี้ยขายผ่านช่องทางต่าง ๆ ดังนี้ แบงก์แอสชัวรันซ์สัดส่วน 30%, ตัวแทน 30% ช่องทางการขายผ่านทางโทรศัพท์ (เทเลเซล) 30% และช่องทางอื่น ๆ อีก 10%

นายไบรอันกล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนั้นเรื่องการอนุมัติเงินกู้จำนองลดลงซึ่งมีผลต่อยอดขายประกันลักษณะ (Credit Life) ที่ให้ความคุ้มครองผู้กู้ตลอดช่วงเวลาการจำนอง สาเหตุที่การอนุมัติลดลง เป็นเพราะบริษัทต้องการควบคุมระดับหนี้ส่วนบุคคลและหนี้เสียไม่ให้เพิ่มขึ้นสูงจนเกินไป รวมถึงมาตรการของภาครัฐให้ธนาคารระมัดระวังในการนำเสนอสินค้ามากขึ้น เพื่อลดปัญหาการถูกหลอกขายประกันผ่านแบงก์