2 แบงก์ใหญ่โชว์ธุรกรรมแบงกิ้งเอเย่นต์เบ่งบาน “ไทยพาณิชย์” เผยยอดฝากถอนผ่าน “เซเว่นอีเลฟเว่น” ตก 137 ล้านบาท/วัน ตอบโจทย์พ่อค้า-แม่ค้าตลาดสดแห่ทำธุรกรรมหนาแน่นกลางคืนถึงโต้รุ่ง เล็งต้นปีหน้าเปิดบริการผ่าน “บิ๊กซี-โลตัส” เพิ่ม พร้อมถก ธ.ก.ส.ปูพรมระดับตำบล ฟาก “กสิกรไทย” เผย 8 เดือนปีนี้ มีธุรกรรมฝากถอนผ่าน 7 แบงกิ้งเอเย่นต์แล้ว 1.4 หมื่นล้านบาท
นายสีหนาท ล่ำซำ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Payment Product Solutions and Management ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันธนาคารไทยพาณิชย์เปิดให้บริการฝากถอนเงินผ่านแบงกิ้งเอเย่นต์ (banking agent) ได้แก่ ร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น ประมาณ 11,000 สาขา และบริษัทไปรษณีย์ไทย ประมาณ 1,200 สาขา ซึ่งช่วยขยายโอกาสในการให้บริการลูกค้าในจุดที่ธนาคารเข้าไม่ถึงได้มากขึ้น โดยหลังเปิดให้ลูกค้าฝากเงินผ่านไปรษณีย์ มาตั้งแต่เดือน ม.ค. 2562 และฝาก/ถอนเงินผ่านเซเว่นฯ ตั้งแต่เดือน มี.ค. 62 พบว่า กว่า 97% ของลูกค้าที่ใช้บริการแบงกิ้งเอเย่นต์เป็นการฝากเงิน ขณะที่อีก 3% เป็นการถอนเงิน
ขณะที่ปริมาณธุรกรรมที่ฝากถอนผ่านแบงกิ้งเอเย่นต์ตั้งแต่เปิดให้บริการถึงปัจจุบันอยู่ที่ 18,000 ล้านบาท แบ่งเป็น ธุรกรรมผ่านเซเว่นฯ ประมาณ 4,100 ล้านบาท/เดือน หรือเฉลี่ย 137 ล้านบาท/วัน (ฝาก 4,090 ล้านบาท/เดือน เฉลี่ย 136.5 ล้านบาท/วัน, ถอน 10 ล้านบาท/เดือน เฉลี่ย 5 แสนบาท/วัน) ส่วนธุรกรรมผ่านไปรษณีย์อยู่ที่ประมาณ 72 ล้านบาท/เดือน หรือเฉลี่ยประมาณ 2.4 ล้านบาท/วัน (ฝากอย่างเดียว)
“แต่ละจุดให้บริการแบงกิ้งเอเย่นต์ก็จะมีความหนาแน่นหรือความถี่ในการทำธุรกรรมแตกต่างกันไปตามช่วงเวลา เช่น สาขาที่อยู่ใกล้ตลาดสด จะมีธุรกรรมหนาแน่นตั้งแต่ช่วง 00.00 น. ถึงโต้รุ่ง เนื่องจากกลุ่มผู้ใช้บริการเป็นแม่ค้า พ่อค้าในตลาดสดที่นำเงินจากการขายของมาฝาก เป็นต้น ส่วนใหญ่เราพบว่าจุดบริการที่มีธุรกรรมสูงมักเป็นจุดที่ติดกับคอมมิวนิตี้มอลล์ต่าง ๆ” นายสีหนาทกล่าว
ขณะที่เงื่อนไขในการฝากถอนเงินผ่านเซเว่นฯ สามารถฝากเงินได้ไม่เกิน 30,000 บาท/ครั้ง/บัญชี หรือมียอดฝากรวมไม่เกิน 100,000 บาท/วัน/บัญชี และถอนเงินได้ไม่เกิน 5,000 บาท/ครั้ง/บัญชี หรือมียอดถอนรวมไม่เกิน 20,000 บาท/วัน/บัญชี ขณะที่ไปรษณีย์ไทยสามารถฝากเงินได้ไม่เกิน 30,000 บาท/ครั้ง/บัญชี หรือมียอดฝากรวมไม่เกิน 60,000 บาท/วัน/บัญชี
“เงื่อนไขหรือวงเงินการฝากถอนผ่านเอเย่นต์แต่ละราย จะแตกต่างกันตามความเสี่ยงที่ธนาคารประเมิน แม้ว่าแบงกิ้งเอเย่นต์จะทำหน้าที่ในนามของธนาคารก็ตาม แต่ความรับผิดชอบทั้งหมดธนาคารยังรับผิดชอบเหมือนเดิม เช่น ฝากเงินกับเอเย่นต์เจ้านี้แต่เงินไม่เข้าบัญชี ธนาคารก็จะต้องรับผิดชอบในการไปหาแหล่งเงินมาคืนให้ลูกค้า หรือต้องรับผิดชอบใช้คืนเงินก้อนนั้น ดังนั้น ทุกธนาคารจึงต้องควบคุมความเสี่ยง” นายสีหนาทกล่าว
นอกจากนี้ ไทยพาณิชย์เตรียมดึงห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี และเทสโก้ โลตัส เป็นแบงกิ้งเอเย่นต์ด้วย โดยคาดว่าจะสามารถเปิดรับฝากถอนเงินได้ภายในต้นปี 2563 นอกจากนี้ ยังมีแผนจับมือกับผู้ให้บริการตู้เติมเงินที่มีลักษณะเป็นตู้คีออสก์ (kiosk) ซึ่งมีจุดให้บริการประมาณ 100,000 ตู้อีกด้วย รวมถึงอยู่ระหว่างพูดคุยกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เนื่องจากมีที่ตั้งสาขาเข้าถึงลูกค้าในระดับตำบลและกิ่งอำเภอ
นายวีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย (KBank) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธนาคารเปิดให้บริการฝากถอนเงินผ่านแบงกิ้งเอเย่นต์มาตั้งแต่เดือน ส.ค. 2561 และยังมีแผนขยายพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง โดยพันธมิตรในปัจจุบัน ได้แก่ ไปรษณีย์ไทย, แฟมิลี่มาร์ท, คาเฟ่ อเมซอน, สพาร์ และอินทนิล (บางจาก), บิ๊กซี และเซเว่นฯ รวมทุกจุดให้บริการจะอยู่ที่ประมาณ 15,000 จุด ซึ่งตั้งแต่เดือน ม.ค.-ส.ค. 2562 มีปริมาณธุรกรรมรวมประมาณ 3 ล้านรายการ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 14,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ในอนาคตธนาคารยังมีแผนขยายพันธมิตรแบงกิ้งเอเย่นต์อย่างต่อเนื่อง