ถกธุรกิจประกัน “เปิดค่าคอม” คปภ.รับลูกข้อเสนอ “ธนาคารโลก-IMF”

คปภ.เร่งหารือภายใน-ถกเอกชนตามข้อเสนอ “ธนาคารโลก-IMF” แนะธุรกิจประกันไทย “เปิดเผยค่าคอมมิสชั่น” หนุนสร้างความโปร่งใส ชี้ต้องศึกษาข้อมูลต่างประเทศเปรียบเทียบด้วย ด้าน “นายกสมาคมประกันวินาศภัย” ชี้ปัจจุบันโบรกเกอร์ประกันทำหน้าที่หลายอย่าง-ดันเกิดค่าใช้จ่ายอื่นขึ้นเพียบ เชียร์ถึงเวลา “เปิดเสรี” จ่ายค่าคอมมิสชั่น

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ คปภ.กำลังพิจารณาว่าจะให้บริษัทประกันภัยมีการเปิดเผยการจ่ายค่าคอมมิสชั่น ตามข้อเสนอแนะของคณะผู้ประเมินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก (World Bank) หรือไม่ หลังจากก่อนหน้านี้ ธุรกิจประกันภัยได้เข้าประเมินภาคการเงิน (FSAP) ซึ่งทางผู้ประเมินได้มีข้อเสนอดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม คปภ.จะต้องพิจารณาเรื่องนี้กันเป็นการภายในและพูดคุยกับภาคธุรกิจก่อน ว่าจะสามารถปฏิบัติได้หรือไม่ เนื่องจากการเปิดเผยค่าคอมมิชชั่นดังกล่าวไม่ได้กำหนดไว้ในกฎหมาย

“เราอาจจะเทกแอ็กชั่น แต่คงจะต้องเอาข้อมูลต่าง ๆ มาดู โดยเฉพาะตัวอย่างในต่างประเทศ เพราะขณะนี้ยังไม่ได้มีการเปิดเผยการจ่ายค่าคอมมิสชั่นทุกประเทศ และไม่ได้เปิดเผยทุกประเภทผลิตภัณฑ์ ดังนั้น จึงต้องศึกษาว่าประเทศเพื่อนบ้านเขาทำกันอย่างไร ซึ่งกำลังให้สายงานที่เกี่ยวข้องนำข้อแนะนำไปหารือกัน” นายสุทธิพลกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การจ่ายค่าคอมมิสชั่นในปัจจุบันธุรกิจประกันจะพิจารณาตามกรอบที่มีประกาศ คปภ.เรื่อง อัตราค่าจ้างหรือค่าบำเหน็จสำหรับตัวแทนประกันวินาศภัยและนายหน้าประกันวินาศภัย พ.ศ. 2551 กำหนดไว้ว่า 1.การประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ จ่ายค่าคอมมิสชั่นไม่เกิน 18% ของจำนวนเบี้ยประกันภัย 2.การประกันภัยรถตามกฎหมายคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (ภาคบังคับ) จ่ายไม่เกิน 12% ของจำนวนเบี้ยประกันภัย 3.การประกันภัยทางทะเลและการขนส่งจ่ายไม่เกิน 13% ของจำนวนเบี้ยประกันภัย 4.การประกันอัคคีภัย จ่ายสูงสุดไม่เกิน 20% ของจำนวนเบี้ยประกันภัย และ 5.การประกันภัยอื่น ๆ จ่ายไม่เกิน 18% ของจำนวนเบี้ยประกันภัย

นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การจะเปิดเผยการจ่ายค่าคอมมิสชั่นอย่างไรนั้น คงต้องหารือกัน เนื่องจากในปัจจุบันไม่ได้มีแต่ค่าคอมมิสชั่นอย่างเดียว แต่ยังมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในการประกอบการแฝงเข้ามา โดยในกรณีค่าแนะนำก็เป็นไปตามกฎหมายกำหนด แต่จะมีค่าใช้จ่ายค่าการตลาดบวกเพิ่มเข้ามา ซึ่งปัจจุบันค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเหล่านี้จะขึ้นกับการตกลงกันระหว่างบริษัทและคนกลางประกันภัย เฉลี่ยราว ๆ 5-7% ขึ้นอยู่กับแต่ละงาน เช่น ค่าใช้จ่ายในการออกไปถ่ายรูป ตรวจรถ ส่งเข้าระบบ ซึ่งเป็นงานของบริษัทประกัน แต่ให้ตัวแทนนายหน้าดำเนินการให้ รวมถึงการจัดส่งกรมธรรม์ การเก็บเงิน โอนเงิน และการจัดส่งใบเสร็จรับเงินให้ด้วย

“ต้องดูว่าถ้าจะเปิดเผย จะเปิดเผยค่าอะไรบ้าง ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็เปิดเผยอยู่แล้วในงบการเงิน ดังนั้น อาจไม่จำเป็นต้องลงรายละเอียด เพราะคงไม่มีใครเขียนต้นทุนของตัวเองไว้ที่สินค้า ซึ่งเป็นภาระด้วย และแต่ละผลิตภัณฑ์ก็ไม่เท่ากัน เช่นนี้จะไปลงรายละเอียดอย่างไร ถ้าจะลงค่าคอมมิสชั่น ปัจจุบันก็จ่ายตามกรอบที่ทาง คปภ.กำหนดไว้อยู่แล้ว” นายอานนท์กล่าว

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันการจ่ายค่าคอมมิสชั่นเริ่มเปลี่ยนไป จากสมัยก่อนคนกลางประกันภัยจะทำหน้าที่แค่ชี้ช่อง ชักชวน แนะนำ แต่ปัจจุบันนี้บริบทการบริการมีหลายหน้าที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากหลายบริษัทประกันภัยต้องการกระจายงานออกไป ทำให้ตัวแทนนายหน้าบางแห่งต้องดำเนินการเพิ่ม ทั้งการพิมพ์กรมธรรม์, การจัดส่งกรมธรรม์, การเก็บเงิน, การจัดส่งใบเสร็จรับเงิน และอาจมีสำรวจภัย ตรวจสอบสภาพรถด้วย

นายอานนท์กล่าวอีกว่า ในปัจจุบันยังมีรูปแบบการขายประกันใหม่ ๆ ทั้งการขายผ่านออนไลน์ การขายผ่านเว็บไซต์ที่มีมากขึ้น ดังนั้นจะได้ดี เห็นว่าควรจะต้องมีการเปิดเสรีการจ่ายค่าคอมมิสชั่น เพราะปัจจุบัน คปภ.มีการควบคุมเงินสำรองตามระดับความเสี่ยง (risk based capital : RBC) ของบริษัทประกันภัยอยู่แล้ว

“การเปิดเสรีนั้น ถ้า คปภ.จะทำ คิดว่าขณะนี้คงถึงเวลาแล้ว เพราะปัจจุบันนี้มีการคุมความเสี่ยงที่ดีขึ้น พูดง่าย ๆ การจ่ายค่าคอมมิสชั่นเดี๋ยวนี้ไปไม่ทันแล้ว เพราะมีอย่างอื่นแฝงเข้ามาด้วยมาก ขณะเดียวกัน บริษัทประกันเองก็ไม่อยากจะให้ตัวเองขยายใหญ่ เพราะค่าใช้จ่ายของบริษัทอาจจะสูงเกินไป” นายอานนท์กล่าว