อสังหาฯเฮ! ครม.ประกาศ “ลดค่าโอน-จำนอง” เหลือ0.01%+ธอส.ปล่อยกู้ดอกเบี้ย 2.5% คงที่ 3 ปี

รัฐบาลอุ้มผู้ประกอบการอสังหาฯ “ลดค่าโอน-จดจำนอง”เหลือ 0.01% ไปจนถึง 24 ธันวาคม 2563 หวังกระตุ้นกำลังซื้อบ้าน-คอนโดฯ พร้อมให้ธอส. ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษ 2.5% คงที่ 3 ปี สำหรับที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท

นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบมาตรการลดภาระให้กับผู้ซื้อที่อยู่อาศัย เพื่อสนับสนุนและบรรเทาภาระให้แก่ประชาชนที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยรัฐบาลจะลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอนจากเดิม 2% เหลือ 0.01% และลดค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์จากเดิม 1% เหลือ 0.01% ทั้งนี้ เฉพาะการซื้อขายที่อยู่อาศัยที่ดินพร้อมอาคารหรือห้องชุด ในราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท โดยมีระยะเวลานับตั้งแต่วันที่ประกาศกระทรวงมหาดไทยมีผลบังคับใช้ถึงวันที่ 24 ธ.ค.2563 นอกจากนี้ ยังมีมาตรการสินเชื่อของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ในการปล่อยกู้ให้ประชาชนที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ในราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยพิเศษคงที่ 2.5% ในช่วง 3 ปีแรก

“เราจัดเตรียมเงินชดเชยดอกเบี้ยให้แก่ ธอส.เป็นจำนวน 1,200 ล้านบาท ขณะที่ในส่วนของการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองคิดเป็นรายได้รัฐที่สูญเสียราว 2,600 ล้านบาท ทั้งนี้ การกำหนดราคาซื้อขายไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อหน่วยนั้น เนื่องจากเป็นระดับราคาที่อยู่อาศัยที่เป็นที่ต้องการของกลุ่มเป้าหมาย โดยที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จพร้อมอยู่ ณ เดือน ต.ค.62 ที่ระดับราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท มีอยู่ประมาณ 34,731 หน่วย คิดเป็น 57% ของที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จทั้งหมด และคาดว่าจะมีที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จในปี 2563 อีกประมาณ 145,269 หน่วย จึงมีที่อยู่อาศัยรวมกว่า 180,000 หน่วย ให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายเป็นเจ้าของได้” นายอุตตม กล่าว

นายอุตตม กล่าวว่า คาดว่าทั้ง 2 มาตรการจะช่วยกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ให้เติบโต ก่อให้เกิดการขยายตัวของซัพพลายเชน ภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องต่าง ๆ เช่น ธุรกิจก่อสร้างธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจพัฒนาการคมนาคม เป็นต้น นอกจากนี้ เพื่อให้ ธอส.ซึ่งสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐเป็นผู้นำตลาดในการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ทำให้ธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตาม ดังนั้น คาดว่ามาตรการนี้จะช่วยเหลือให้ผู้บริโภคหรือประชาชนให้ได้รับประโยชน์และสามารถเข้าถึงการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองได้ง่ายขึ้น

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่ามาตรการที่ออกมานั้น เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่มีสต๊อกเหลือค่อนข้างมาก ซึ่งภาคอสังหาฯ ถือว่าเป็นภาคที่ถือว่ามีความสำคัญกับระบบเศรษฐกิจ และ มีกิจการเกี่ยวเนื่องในซับพลายเชนอีกมาก ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) กำหนดให้มาตรการดังกล่าวดำเนินการจนถึงสิ้นปี 2563 ส่วนการเริ่มต้นมาตรการต้องรอให้กระทรวงมหาดไทยออกประกาศลดค่าธรรมเนียมก่อน ซึ่งอาจต้องใช้เวลา อย่างไรก็ดี จะมีการประสานกระทรวงมหาดไทย เพื่อเร่งรัดให้มีผลบังคับใช้โดยเร็วที่สุด

“เราดูสต๊อกแล้ว เขามีเหลือค่อนข้างมาก ซึ่งหากมีมาตรการออกมา จะไปช่วยให้เขามีทุนไปทำธุรกิจต่อ และอย่างที่ทราบ ภาคอสังหาฯ มีอิมแพ็กต่อเศรษฐกิจโดยรวมค่อนข้างมาก และมีซับพลายเชนเกี่ยวเนื่องอีก รวมถึงนโยบายที่อยากให้คนไทยมีบ้าน จึงเห็นว่า ควรจะมีมาตรการออกมา” นายลวรณกล่าว

นายลวรณ กล่าวด้วยว่า มาตรการลดค่าโอนกับค่าจดจำนองนี้ จะมีอิมแพ็กต่อเศรษฐกิจที่แรงกว่ามาตรการของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) รวมถึงมาตรการบ้านล้านหลังที่ออกมาก่อนหน้านี้ด้วย

อย่างไรก็ดี มาตรการที่ออกมานี้ ไม่เกี่ยวข้องกับมาตรการควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัย (LTV) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยเป็นคนละส่วนกัน ซึ่งมาตรการที่ออกมาใช้ระยะเวลาเพียง 1 ปี หากจะสร้างบ้านมาขาย หรือสร้างคอนโดฯ มาขายก็คงจะไม่ทัน จะต้องเป็นของที่มีอยู่แล้วในสต๊อก

“จากการสำรวจที่มีอยู่ในตลาดขณะนี้มีประมาณ 4-5 หมื่นยูนิต มาตรการนี้จะช่วยสามารถระบายสต็อกของผู้ประกอบการออกไปได้ จะทำให้ประชาชนที่มีรายได้ไม่มากนัก สามารถมีบ้านเป็นของตัวเองได้ และจะส่งผลเกิดการลงทุนสำหรับผู้ประกอบการ” นายลวรณกล่าว

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ครม. ได้เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองในระดับราคาที่เหมาะสมกับความสามารถในการผ่อนชำระโดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง วัยทำงานหรือประชาชนที่กำลังเริ่มต้นสร้างครอบครัว และกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งจะมีส่วนช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างความมั่นคงในสถาบันครอบครัว รวมถึงกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ภายใต้กรอบวงเงินรวม 50,000 ล้านบาท โดยมีอัตราดอกเบี้ยคงที่ 2.50%ต่อปี นาน 3 ปีแรก ปีที่ 4 – ปีที่ 5 คงที่ 4.625% ต่อปี ส่วนปีที่ 6 จนถึงตลอดอายุสัญญากู้เงิน กรณีสวัสดิการ MRR – 1.00% ต่อปี กรณีรายย่อย MRR – 0.75%

ทั้งนี้ ให้กู้เพื่อซื้อที่ดินพร้อมอาคาร หรือห้องชุดจากผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ทั่วประเทศที่มีราคาซื้อขายไม่เกิน 3 ล้านบาท กรณีกู้ 1 ล้านบาท เงินงวด 3 ปีแรก เริ่มต้นเพียง 3,300 บาท/เดือน เทียบกับเงินงวดของอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อปกติ วงเงินกู้ 1 ล้านบาท 3 ปีแรก ผู้กู้จะประหยัดเงินงวดได้จำนวน 80,400 บาท ติดต่อยื่นคำขอกู้และทำนิติกรรมได้ตั้งแต่วันที่ 24 ต.ค.2562 ถึงวันที่ 24 ธ.ค. 2563