
คอลัมน์ เลียบรั้วเลาะโลก
โดย ถนอมศรี ฟองอรุณรุ่ง
นับจากต้นปี ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นประมาณ 7.4% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ และดูเหมือนว่าจะแข็งค่ามากที่สุดในเอเชีย หลังจากที่ค่าเงินวอนเริ่มอ่อนค่าลง หลังจากเกาหลีเหนือเริ่มทดสอบขีปนาวุธอีกครั้งในช่วงปลายเดือนที่ผ่านมา นอกจากเงินบาทแล้ว เงินสกุลอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น เยน ยูโร และเงินในกลุ่มประเทศเอเชียเกือบทุกประเทศก็แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ดังนั้นกล่าวได้ว่า สาเหตุของการที่เงินบาทแข็งส่วนหนึ่งเป็นเพราะเงินดอลลาร์อ่อนค่า (เนื่องจากนักลงทุนมองว่า ประธานาธิบดีทรัมป์น่าจะประสบปัญหาในการบริหารงาน และไม่สามารถผลักดันนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจตามที่ประกาศไว้) อย่างไรก็ตาม โดยปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญ การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูง น่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งกว่าเงินสกุลอื่น ๆ ในภูมิภาค ทั้งนี้ เพราะการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด คือ การที่ประเทศมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการมากกว่ารายจ่ายในการซื้อสินค้าและบริการจากต่างประเทศ ซึ่งหมายถึงการมีรายได้ในรูปเงินตราต่างประเทศนั่นเอง คำถามคือ การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยนั้นมาจากไหน และประเทศไทยจะยังคงเกินดุลต่อเนื่องในระดับสูงหรือไม่
ประเทศไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจไทยในปี 1997 ทั้งนี้ เพราะการขยายตัวเพิ่มขึ้นของการส่งออก ขณะที่การนำเข้าปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง ทำให้ไทยเกินดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดนับแต่นั้นมา (ในขณะนั้น ดุลภาคบริการยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก) โดยไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเฉลี่ยปีละ 3.3% ของจีดีพี ในระหว่างปี 1999-2008 เปรียบเทียบกับขาดดุลเฉลี่ยปีละ 6.8% ช่วงก่อนวิกฤตในปี 1990-1995 สำหรับสถานการณ์หลังวิกฤตการเงินโลก ปี 2008 การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดยังคงเพิ่มขึ้น คือ เฉลี่ยปีละ 4.4% ในระหว่างปี 2009-2016 แต่มีประเด็นที่น่าสังเกต คือ
1.รายได้เงินตราต่างประเทศจากภาคการท่องเที่ยวนั้นขยายตัวในอัตราเร่งเมื่อเทียบกับรายได้จากการส่งออกสินค้า โดยในระหว่างปี 2005-2016 รายได้จากภาคการท่องเที่ยวขยายตัวเฉลี่ยปีละ 16% สูงกว่าการขยายตัวของการส่งออกที่ 5% ในช่วงเวลาเดียวกัน และในปี 2016 ไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวสูงถึง 1.76 ล้านล้านบาท หรือเท่ากับ 23% ของรายได้จากการส่งออกสินค้า เปรียบเทียบกับปี 2005 ที่อยู่ที่ระดับ 8% ของรายได้จากการส่งออกสินค้า
2.นอกจากนี้ หากดูรายได้สุทธิที่ได้จากภาคการท่องเที่ยว (รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติหักด้วยรายจ่ายที่คนไทยไปเที่ยวต่างประเทศ) ก็มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และนับจากปี 2011 เป็นต้นมา รายได้สุทธิจากภาคการท่องเที่ยวอยู่ในระดับสูงกว่าการเกินดุลการค้าที่ได้จากการขายสินค้า และรายได้สุทธิจากภาคการท่องเที่ยวปรับตัวสูงกว่า 1 ล้านล้านบาท นับจากปี 2012 และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาเป็น 1.47 ล้านล้านบาท ในปี 2016 เทียบกับการเกินดุลการค้า (ส่งออกสินค้าหักด้วยการนำเข้า ณ ราคา FOB) ที่ 1.29 ล้านล้านบาท
3.ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา (2556-2559) การเกินดุลการค้าปรับตัวดีขึ้น เพราะแม้ว่าการส่งออกหดตัวลง (-1.5% ต่อปี) แต่การนำเข้าปรับลดมากกว่า (-5.9% ต่อปี) ซึ่งเกิดจากการปรับลดลงอย่างรุนแรงของราคาน้ำมัน ทำให้มูลค่าการนำเข้าน้ำมัน (ในอดีตการนำเข้าน้ำมันมีสัดส่วนถึง 20% การนำเข้ารวม) ปรับลดลง โดยในปี 2556 ไทยนำเข้าน้ำมันมูลค่า 1.59 ล้านล้าน ลดลงเหลือ 8 แสนล้าน ในปี 2559
คำถามต่อมาคือ แล้วไทยจะยังเกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่องหรือไม่ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า ในปีนี้ไทยจะเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ประมาณ 10% ของจีดีพี หรือราว ๆ 1.4-1.5 ล้านล้านบาท (ปี 2559 เกินดุล 1.65 ล้านล้านบาท) และปีหน้าก็จะยังเกินดุลกว่า 1.1 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 7% ของจีดีพี ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่สูงมาก เหตุที่คาดการณ์ว่า การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดน่าจะยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง น่าจะมาจากสาเหตุหลัก 2 ประการ คือ
1.รายได้จากภาคการท่องเที่ยวน่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง ซึ่งรายได้สุทธิจากภาคการท่องเที่ยวในปัจจุบันสูงระดับเดียวกับการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด คือ ประมาณ 1.4-1.5 ล้านล้านบาท
2.การส่งออก น่าจะเริ่มฟื้นตัวได้ในระดับหนึ่ง ขณะที่การนำเข้าน่าจะเพิ่มขึ้นไม่มาก ทั้งนี้ เพราะคาดการณ์ว่า
ราคาน้ำมันน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นไม่มากใน 1-2 ปีข้างหน้า ขณะที่การลงทุนภายในประเทศจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และกำลังการผลิตที่เหลืออยู่ ทำให้การนำเข้าสินค้าทุน (ซึ่งมักมีมูลค่าสูง) น่าจะปรับเพิ่มขึ้นไม่มาก ดังนั้น ดุลการค้าก็น่าจะเกินดุลได้ต่อเนื่อง
การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงถึง 7-10% ของจีดีพี ในปีนี้และปีหน้า หมายความว่า ไทยจะมีรายได้เงินตราต่างประเทศเข้ามาอีกจำนวนมาก ทำให้มีแนวโน้มว่าค่าเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าได้อีก เว้นเสียแต่ว่าจะมีเงินทุนไหลออกจากประเทศในจำนวนมาก ทั้งนี้ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้ผ่อนคลายกฎการลงทุนในต่างประเทศ โดยเพิ่มวงเงินให้สถาบันการเงินไปลงทุนต่างประเทศ จากเดิม 75 ล้านเหรียญ เป็น 100 ล้านเหรียญ ซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยในการลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาท แต่จะเพียงพอหรือไม่นั้น คงต้องดูกันต่อไป