FSMART ลุยธุรกิจสินเชื่อนำร่องปล่อยกู้ตัวแทน “ตู้บุญเติม”

“ฟอร์ท สมาร์ท” ลุยธุรกิจสินเชื่อนำร่องปล่อยกู้ตัวแทน “ตู้บุญเติม” ทันที หลัง ธปท.ไฟเขียว 3 ไลเซนส์ “สินเชื่อส่วนบุคคล-จำนำทะเบียน-นาโนไฟแนนซ์” ชิมลางเฟสแรก 500 ล้านบาท คาดหนุนรายได้บริษัทเพิ่ม 2-3% ในปีแรก

นายณรงค์ศักดิ์ เลิศทรัพย์ทวี กรรมการผู้จัดการ บมจ.ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส (FSMART) ผู้ให้บริการ “ตู้ออนไลน์บุญเติม” เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เทรดดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ได้รับใบอนุญาตในการปล่อยสินเชื่อ 3 รูปแบบ ได้แก่ สินเชื่อส่วนบุคคล (personal loan) สินเชื่อจำนำทะเบียน และนาโนไฟแนนซ์ (nano finance) จากกระทรวงการคลังผ่านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เรียบร้อยแล้ว โดยบริษัทสามารถเริ่มปล่อยสินเชื่อได้ทันที ด้วยวงเงินเบื้องต้นประมาณ 500 ล้านบาท ที่จะปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มตัวแทนตู้ออนไลน์บุญเติมที่ปัจจุบันมีอยู่กว่า 100,000 ราย ซึ่งเชื่อว่าจะได้รับการตอบรับที่ดี เนื่องจากตัวแทนสามารถนำเงินไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจได้

 

สำหรับการปล่อยกู้บริษัทจะให้กับตัวแทนที่ดำเนินธุรกิจร่วมกับบริษัทอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งมีทำเลคุณภาพและมีค่าคอมมิสชั่นในแต่ละเดือนการันตีความสามารถในการชำระคืน ขณะที่ในส่วนของการบริหารจัดการเรื่องชำระค่าสินเชื่อนั้น ทางผู้กู้สามารถเลือกได้ทั้งการชำระแบบรายเดือนและรายสัปดาห์ตามประเภทสินเชื่อ โดยจะมีค่าธรรมเนียมการชำระค่าสินเชื่อผ่านตู้ออนไลน์บุญเติมที่ปัจจุบันมีอยู่กว่า 130,000 จุดทั่วประเทศ และมีอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมไม่เกินตามที่กฎหมายกำหนด

“บริษัทสามารถปล่อยกู้ได้ทันที เนื่องจากก่อนหน้านี้บริษัทได้มีการสำรวจความต้องการของตัวแทน และทดลองการปล่อยกู้เพื่อศึกษาการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ โดยเบื้องต้นจะปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลและนาโนไฟแนนซ์ให้เฉพาะกลุ่มตัวแทนและเครือข่ายเพื่อนำไปต่อยอดธุรกิจประมาณ 500 ล้านบาท ซึ่งมองว่าธุรกิจสินเชื่อในปีแรก น่าจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับบริษัทประมาณ 2-3% จากการปล่อยกู้ในวงจำกัด แต่หากสามารถปล่อยกู้ในวงกว้างขึ้นจะผลักดันให้รายได้ของบริษัทมีการเติบโตตามลำดับ” นายณรงค์ศักดิ์กล่าว

ส่วนการปล่อยสินเชื่อทั้งนาโนไฟแนนซ์และสินเชื่อส่วนบุคคลให้กับบุคคลทั่วไปนั้น บริษัทขอศึกษารายละเอียดก่อนดำเนินการ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะมีการร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ โดยให้ตู้ออนไลน์บุญเติมเป็นช่องทางการชำระเงินและค่าธรรมเนียมการชำระผ่านตู้ออนไลน์บุญเติม เนื่องจากมีความเสี่ยงเกิดหนี้เสีย จึงต้องอาศัยประสบการณ์ ความรอบคอบ และการศึกษาขั้นตอนให้เชี่ยวชาญเพื่อป้องกันความเสี่ยง

นายณรงค์ศักดิ์กล่าวด้วยว่า สำหรับการดำเนินงานในช่วงที่เหลือของปี 2562 บริษัทยังคงมีสัดส่วนรายได้มาจากยอดเติมเงินมือถือ 70% แบงกิ้งเอเย่นต์ 15% ที่เหลือมาจากยอดเติม e-Wallet จ่ายบิล และบริการอื่น ๆ อาทิ การขายเพลงให้กับแกรมมี่ การขายประกัน การรับลงทะเบียน (Sim Card & e-KYC) รวมถึงการพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ทั้งการขายซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือที่เริ่มแล้วเกือบ 1,000 จุด จากเป้าหมายกว่า 1,200 จุดทั่วประเทศ และตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ (Vending Machine) ที่เริ่มทยอยติดตั้งแล้วกว่า 3,000 จุด จากเป้าหมาย 4,000 ตู้ในปีนี้ ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของบริษัทให้เติบโตขึ้นจากปีก่อน