เปิดเกณฑ์ “ธนาคารประชาชน” คลังพร้อมเปิดยื่นขอไลเซนส์ก่อนสิ้นปีนี้

คลังจ่อเปิดทางกลุ่มสัจจะ/ออมทรัพย์ยื่นขอจัดตั้งสถาบันการเงินประชาชนไม่เกินสิ้นปีนี้ มอบธนาคารพี่เลี้ยง “ธ.ก.ส.-ออมสิน” เช็กความพร้อมกว่าหมื่นราย เปิดเกณฑ์ทำธุรกิจคิดดอกเบี้ยกู้รวมค่าธรรมเนียม-ค่าบริการแล้วไม่เกิน 15% ต่อปี ส่วนดอกเบี้ยเงินฝากไม่เกิน 4.5% ขณะที่ค่าทวงหนี้คิดได้ไม่เกิน 80 บาทต่อรายต่อเดือน

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คลังคาดว่าจะออกประกาศเปิดให้องค์กรการเงินชุมชนต่าง ๆ ที่สนใจยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งเป็น “สถาบันการเงินประชาชน” ภายใต้พระราชบัญญัติสถาบันการเงินประชาชน พ.ศ.2562 ที่มีผลบังคับใช้เมื่อ 28 ส.ค. 2562 ได้ก่อนสิ้นปี 2562 นี้

“การเปิดให้ยื่นสมัครขณะนี้รอประกาศนายทะเบียน ซึ่งจะออกประกาศในปีนี้แน่นอน” นายพรชัยกล่าว

โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการออกประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบสถาบันการเงินประชาชน และประกาศนายทะเบียนสถาบันการเงินประชาชน เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานของสถาบันการเงินประชาชนให้ครบถ้วนและสอดคล้องตามกฎหมาย และการเตรียมความพร้อมระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของธนาคารผู้ประสานงาน

อย่างไรก็ดี องค์กรการเงินชุมชนที่มีคุณสมบัติตามกฎหมาย เช่น มีทุนที่ชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 5 แสนบาท มีการจัดทำงบการเงินประจำปีต่อเนื่องกันเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี มีผลการดำเนินงานเป็นกำไรต่อเนื่องกันเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี เป็นต้น สามารถติดต่อกับธนาคารผู้ประสานงานไว้เบื้องต้นก่อนได้

ทั้งนี้ เมื่อเร็ว ๆ นี้คณะกรรมการพัฒนาระบบสถาบันการเงินประชาชน ได้ออกประกาศที่เกี่ยวข้องไปแล้ว 5 ฉบับ โดยเป็นการกำหนดให้กลุ่มออมทรัพย์/กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต สถาบันการเงินชุมชน และวิสาหกิจชุมชนที่ให้บริการทางการเงินและไม่เป็นนิติบุคคล เป็นองค์กรการเงินชุมชนตามกฎหมายใหม่นี้ และให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสิน เป็นธนาคารผู้ประสานงาน

รวมถึงกำหนดให้สถาบันการเงินประชาชนพิจารณาฝากเงิน/กู้ยืมเงินในกรณีที่มีความจำเป็นกับธนาคารผู้ประสานงานเป็นอันดับแรก โดยในกรณีที่ไม่มีธนาคารผู้ประสานงานที่รับผิดชอบในพื้นที่หรือธนาคารผู้ประสานงานไม่อาจให้บริการได้อย่างเหมาะสม สถาบันการเงินประชาชนสามารถฝากเงินกับสถาบันการเงินแห่งอื่นได้ พร้อมกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการให้บริการทางการเงินโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศของสถาบันการเงินประชาชน

นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดกรอบอัตราดอกเบี้ย/ผลตอบแทน ค่าธรรมเนียม และค่าบริการโอนเงินและรับชำระเงินของสถาบันการเงินประชาชน แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตามประกาศสถาบันการเงินประชาชนจะคิดดอกเบี้ยเงินกู้ รวมค่าปรับ ค่าบริการ หรือค่าธรรมเนียมใด ๆ แล้วได้ไม่เกิน 15% ต่อปี และดอกเบี้ยเงินฝากไม่เกิน 4.5% ต่อปี ขณะที่ค่าติดตามทวงหนี้ที่สามารถคิดได้ตามค่าใช้จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 80 บาทต่อรายต่อเดือน ส่วนค่าธรรมเนียมโอนเงินต้องไม่เกิน 40 บาทต่อรายการ และค่าธรรมเนียมการให้บริการรับชำระเงินไม่เกิน 10 บาทต่อรายการ (ดูกราฟิก)

“ตอนนี้ที่พิจารณากันอยู่ก็มีองค์กรการเงินชุมชนที่สามารถยกระดับเป็นสถาบันการเงินประชาชนได้เป็นหมื่นแห่ง แต่ทางธนาคารพี่เลี้ยงคือ ธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส.ก็ต้องเข้าดูว่าพร้อมจริง ๆ กี่แห่ง” แหล่งข่าวกล่าว

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารอยู่ระหว่างเตรียมการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ เพราะต้องใช้งานระบบร่วมกับ ธ.ก.ส. โดยขณะนี้ยังใช้ระบบปฏิบัติการแบบเดี่ยว (stand-alone OS) อยู่ และยังไม่มีองค์กรการเงินชุมชนแจ้งความประสงค์ขอจัดตั้งเป็นสถาบันการเงินประชาชน ซึ่งคาดว่าน่าจะเห็นมีการขอจัดตั้งเข้ามาช่วงต้นปี 2563

ทั้งนี้ ในฐานะธนาคารพี่เลี้ยงจะมีหน้าที่ดูแลสถาบันการเงินประชาชนอย่างใกล้ชิด อาทิ การดูแลให้สามารถทำบัญชี ทำธุรกิจ และรับฝากเงินได้อย่างถูกต้อง เป็นต้น

“ออมสินกับ ธ.ก.ส.จะมีระบบกลางที่จะพัฒนาและใช้ร่วมกัน โดยเบื้องต้นจะใช้ชั่วคราวก่อน น่าจะต้องใช้เงินประมาณ 20-30 ล้านบาท อย่างไรก็ดี หากในระยะต่อไปมีองค์กรการเงินชุมชนมาเข้าร่วมเพิ่มขึ้น ซึ่งก็จะเหมือนกับธนาคารออมสินได้สาขาเพิ่มขึ้นด้วย ก็ต้องพัฒนาเป็นระบบปฏิบัติการเพิ่มเติมอีก” นายชาติชายกล่าว

นายสมเกียรติ กิมาวหา ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า เบื้องต้น ธ.ก.ส.มีเป้าหมายในแผนธุรกิจของธนาคารปีบัญชี 2562 (เม.ย. 62-มี.ค. 63) ว่า จะพยายามสนับสนุนให้มีสถาบันการเงินประชาชนเกิดขึ้นเป็นตัวอย่างจังหวัดละ 1 แห่งทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม ก็ขึ้นอยู่กับความพร้อมของกลุ่มองค์กรทางการเงินของชุมชนต่าง ๆ ด้วย ซึ่งคาดว่าภายในช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค. 2562 นี้ จะมีความชัดเจนมากขึ้น

“น่าจะมีกลุ่มการเงินชุมชนหลาย ๆ แห่งที่ให้ความสนใจและมีคุณสมบัติที่น่าจะยื่นขอจัดตั้งเป็นสถาบันการเงินประชาชนได้ โดยทาง ธ.ก.ส.จะช่วยประสานงานและสนับสนุนด้วยการนำระบบต่าง ๆ เข้าไปสนับสนุน อย่างไรก็ดี ยังมีกองทุนขนาดเล็กอีกหลายแห่งที่น่าจะต้องใช้เวลาในการยกระดับพอสมควร” นายสมเกียรติกล่าว