“ไอเอ็มเอฟ” หั่นเป้าจีดีพีไทยปี’62 เหลือโต 2.9% ลุ้นปี’63 โต 3%

หวั่นสงครามการค้าทวีความรุนแรง-ศก.จีนชะลอตัวเร็วกว่าคาด เป็นปัจจัยเสี่ยงกดดันเศรษฐกิจเอเชียขยายตัวได้เพียง 5.0% ในปีนี้ จากเดิมคาดโตได้ 5.4%

นายโจนาธาน ออสทรี รองผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียและแปซิฟิก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยว่า จากรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย “Caught in Prolonged Uncertainty : Challenges and Opportunities” เดือน ต.ค. 2652 ชี้ว่าเศรษฐกิจเอเชียมีแนวโน้มขยายตัว 5.0% ในปี 2562 และ 5.1% ในปี 2563 (ชะลอลงจากปีที่ผ่านมา และต่ำกว่าประมาณการ ณ เดือน เม.ย. 0.4% และ 0.3% ตามลำดับ) โดยการค้าและการลงทุนชะลอตัวอย่างมีนัยสำคัญจากมาตรการกีดกันทางการค้าและความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการผลิต

สำหรับการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในประเทศพัฒนาแล้วและภาวะการเงินโลกที่ผ่อนคลายมากขึ้นนั้น แม้จะเป็นปัจจัยที่ช่วยประคับประคองการขยายตัวของเศรษฐกิจเอเชีย แต่ในขณะเดียวกันก็อาจส่งผลกระทบต่อความเปราะบางทางการเงินของประเทศในภูมิภาค

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงภายนอกภูมิภาค ได้แก่ ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนที่อาจจะทวีความรุนแรงมากขึ้น เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักที่ชะลอตัวกว่าที่คาดไว้ ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น และความเสี่ยงจากการแยกตัวของสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรปแบบไร้ข้อตกลง (No Deal Brexit) อีกทั้งปัจจัยเสี่ยงภายในภูมิภาค ได้แก่ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ ความตึงเครียดภายในภูมิภาคที่เพิ่มขึ้น เช่นความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลี ความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้นและความเสี่ยงจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เพิ่มสูงขึ้น

ทั้งนี้ IMF ปรับประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 2562 ลงมาอยู่ที่ 2.9% จากเดิมคาดว่าจะเติบโตได้ที่ 3.5% รวมถึงปรับประมาณการปี 2563 ลงมาอยู่ที่ 3.0% จากเดิมคาดว่าจะเติบโตได้ 3.5% เช่นกัน


นายโจนาธาน กล่าวว่า ตนมองว่าประเทศไทยยังมีขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน หรือ “Policy Space” เหลืออยู่เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ ผ่านการทำนโยบายด้านเงินเฟ้อ การบริหารดอกเบี้ยนโยบาย และการสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น รวมถึงการทำนโยบายทางการคลังเพื่อชะลอวัฏจักรเศรษฐกิจขาลง ขณะที่ประเด็นเรื่องค่าเงินบาทของไทยที่แข็งค่าขึ้นประมาณ 7% ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (YTD) มองว่าการทำนโยบายการคลังโดยการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน จะส่งผลให้เกิดการนำเข้าสินค้าทุน ซึ่งจะช่วยให้เงินบาทอ่อนค่าได้บ้าง