ค่าเงินบาทแข็งค่า นักลงทุนจับตาตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 13 กันยายน 2560 ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 33.10/12 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (12/9) ที่ระดับ 33.10/12 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐรายงาน จำนวนตำแหน่งงานว่างในสหรัฐ อยู่ที่ระดับ 6.17 ล้านตำแหน่งในเดือนกรกฎาคมปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 6.163 ล้านตำแหน่งในเดือนมิถุนายน โดยจำนวนการเลย์ออฟและปลดออกจากตำแหน่งปรับตัวเพิ่มขึ้ 1.2% ในขณะที่ตัวเลขการจ้างงานและลาออกจากงานอยู่ที่ระดับ 5.5 ล้ารน และ 5.3 ล้านตำแหน่งตามลำดับ ข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นว่า นายจ้างกำลังประสบปัญหาในการว่าจ้างบุคลากรให้ตรงกับความต้องการด้านทักษะวิชาชีพ นอกจากนี้เงินดอลลาร์ยังคงได้รับแรงกดดันจากภัยคุกคามเฮอร์ริเคนเออร์มาและระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น โดยปัจจัยเหล่านี้คาดว่าจะสร้างความเสียหายให้กับรัฐคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 1.8 แสนล้านดอลลาร์ นอกจากนี้กรณีการคว่ำบาตรของเกาหลีเหนือยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เงินดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่าลง ในส่วนของนโยบายทรัมป์นั้น ล่าสุดนายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ กล่าวว่า การปฏิรูปภาษีถือเป็นสิ่งที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ให้ความสำคัญสูงสุด และหวังว่ารัฐบาลสหรัฐจะให้การอนุมัติต่อการปฏิรูปภาษีดังกล่าว ทั้งนี้พรรครีพับลิกันมีเป้าหมายที่จะปฏิรูปกฎหมายภาษีสหรัฐ แต่ยังคงเผชิญอุปสรรคหลายประการในการดำเนินการในปีนี้ ซึ่งนายมนูชินกล่าวว่า เป้าหมายของประธานาธิบดีทรัมป์ในการปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลลงสู่ระดับ 15% อาจจะเป็นเรื่องยากที่จะทำได้สำเร็จ เมื่อพิจารณาถึงประเด็นงบประมาณ ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 33.07-33.115 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะปิดตลาดที่ระดับ 33.08/10 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

 

สำหรับคาเงินยูโรวันนี้ (13/9) เปิดตลาดที่ระดับ 1.1974/76 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดในวันอังคาร (12/9) ที่ระดับ 1.1957/59 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยศูนย์สถิติยูโรแสตทรายงานตัวเลข CPI ของประเทศเยอรมนีและสเปนทรงตัวที่ระดับ 1.8% และ 1.6% ตามลำดับ นอกจากนี้สำนักงานสถิติแห่งชาติของอังกฤษเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สำคัญ ปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 2.9% ในเดือนสิงหาคมจากระดับ 2.6% ในเดือนกรกฎาคม ตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจในฝั่งยุโรปอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 1.1960-1.994 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.1976/77 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

 

ในส่วนของค่าเงินเยนวันนี้ (13/9) เปิดตลาดที่ระดับ 110.14/16 เยน/ดอลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดในวันอังคาร (12/9) ที่ระดับ 109.71/73 เยน/ดอลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินเยนปรับตัวอ่อนค่าลง หลังจากเหตุการณ์ตึงเครียดคาบสมุทรเกาหลีระหว่างเกาหลีเหนือและสหรัฐเริ่มทุเลาลง นอกจากนี้นายทาโร่ โคโนะ รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น เรียกร้องให้ประเทศตะวันออกกลางยุติการรับแรงงานอพยพจากเกาหลีเหนือ เพื่อป้องกันไม่ให้เกาหลีเหนือมีช่องทางรับเงินสนับสนุนโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธ ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 109.91-110.29 เยน/ดอลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 110.12/14 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

 

ข้อมูลทางเศรษฐกิจของสหรัฐที่สำคัญที่ต้องจับตาดูในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อสหรัฐ (14/9) จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (14/9) ยอดค้าปลีก (14/9)

 

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.25/-2.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -3.7/-2.7 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ