ศูนย์วิจัยกสิกรฯคาดเฟดประชุม 29-30 ต.ค. นี้ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% หลังสงครามการค้าเริ่มส่งผลกระทบต่อภาคการบริโภค

แฟ้มภาพ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ในการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 29-30 ตุลาคม 2562 คงเป็นอีกการประชุมนโยบายการเงินที่ตลาดการเงินคงจับตาอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ แม้ว่าเฟดจะมีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องในการประชุมในการประชุม 2 รอบล่าสุด ตลอดจน ประกาศที่จะเริ่มการซื้อพันธบัตรระยะสั้นในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ แต่ภาพรวมของเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมทั้งทิศทางเงินเฟ้อยังคงชะลอลงต่อ อาจบ่งชี้ว่าการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมาอาจไม่เพียงพอ

โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะภาคบริโภคที่เริ่มมีสัญญาณหดตัวลงอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ฉุดให้การเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้าเติบโตต่ำกว่าที่เฟดคาดการณ์ ทั้งนี้ ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมาทิศทางกิจกรรมทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงมีสัญญาณชะลอลง โดยเฉพาะยอดค้าปลีกเดือนสิงหาคมหดตัว 0.3% MoM อันบ่งชี้ว่าผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่ขยายวงกว้างขึ้นเริ่มส่งผลกระทบต่อภาคการบริโภคซึ่งมีสัดส่วนกว่า 2 ใน 3 ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ นอกเหนือจากภาพผลกำไรของภาคธุรกิจและกิจกรรมในภาคการผลิตที่ชะลอลงอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา

นอกจากนี้ แนวโน้มทิศทางเงินเฟ้อสหรัฐฯ ยังมีทิศทางชะลอลง โดยเงินเฟ้อสหรัฐฯ มีทิศทางปรับลดลงในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ โดยล่าสุดอยู่ที่ระดับ 1.7% ชะลอลงจากค่าเฉลี่ยเงินเฟ้อในช่วง 12 เดือนย้อนหลังที่ระดับ 1.9% ขณะที่พัฒนาการตลาดแรงงานสหรัฐฯอ่อนแอลงในช่วงที่ผ่านมาอาจเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้แรงกดดันเงินเฟ้อสหรัฐฯ อาจปรับลดลงจากปัจจุบัน ซึ่งตอกย้ำภาพการใช้จ่ายที่ชะลอตัวทั้งในปัจจุบันและอนาคต

ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ น่าจะมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% ในการประชุมนโยบายการเงินวันที่ 29-30 ตุลาคม 2562

ในระยะข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าเฟดคงจะส่งสัญญาณถึงมุมมองค่อนข้างบวกต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่พัฒนาการของเศรษฐกิจจริงในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้าคงเป็นเครื่องบ่งชี้ทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดในระยะต่อไป


ทั้งนี้ ข้อตกลงทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนในเฟสแรกอาจไม่เพียงพอในการคลี่คลายปัจจัยเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญตลอดจนหนุนให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ กลับมาเติบโตในอัตราเร่งขึ้น ทำให้เฟดยังคงเผชิญกับความท้าทายต่อการตัดสินใจนโยบายการเงินในระยะต่อไป