ธปท.ถก”บิ๊กค้าทองคำ”รายตัว จ่อออกมาตรการลดแรงกดดัน”บาทแข็ง”

แฟ้มภาพ
ธปท.เรียกบิ๊กค้าทองถกออกเกณฑ์แก้ปมส่งออกทองพุ่งดัน “บาทแข็ง” ผู้ประกอบการลุ้นมาตรการไม่กระทบธุรกิจ-รับหารือหลายแนวทางยังไม่ได้ข้อสรุป ระบุสัดส่วนส่งออกทองคำแค่ 6% เอฟเฟ็กต์ค่าเงินบาทน้อย ชี้เวลาทอง “ราคาตก” เงินบาทยังแข็งค่า

แหล่งข่าวจากวงการค้าทองคำ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ช่วงกลางเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ทยอยเรียกผู้ค้าทองคำรายใหญ่ ๆ ราว 4-5 ราย เข้าหารือเกี่ยวกับกรณีที่ก่อนหน้านี้ ที่นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. ระบุว่า จะมีการทบทวนกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการซื้อขายเงินตราต่างประเทศที่เกี่ยวกับทองคำ ไม่ให้มีแรงกระแทกกับค่าเงินบาทมากเกินไป ซึ่งเป็นการเรียกหารือทีละราย ไม่พร้อมกัน และคาดว่าจะมีมาตรการที่เกี่ยวข้องออกมาในเร็ว ๆ นี้

ทั้งนี้ สำหรับแนวทางที่จะให้ผู้ส่งออกถือครองสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐไว้นานขึ้น ไม่ต้องรีบแลกกลับมาเป็นเงินบาท อาจเป็นวิธีการหนึ่ง แต่ก็ต้องบอกว่า วิธีนี้ไม่น่าจะมีประโยชน์ เพราะผู้ประกอบการจำเป็นต้องรีบแลกเงินบาท เนื่องจากการส่งออกทองคำเป็นการขายเพื่อทำกำไรในช่วงที่ราคาทองคำโลกเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว

“การส่งออกทองคำ ผู้ประกอบการส่งออกเพราะว่าหมดเงิน จึงต้องการเงิน เพื่อนำมาคืนผู้ขาย หรือคืนตัวผู้ประกอบการเองเพื่อวอลุ่ม แต่ส่งออกแล้วไม่นำเงินเข้ามา เป็นไปไม่ได้ เพราะการส่งออกไป ก็เป็นการขายเพื่อทำกำไรอยู่แล้ว ก็ต้องนำเงินกลับเข้ามาเลย” แหล่งข่าวกล่าว

นอกจากนี้ยังมีการพูดถึงแนวทางการเปิดให้ซื้อขายทองคำในสกุลเงินดอลลาร์แทนเงินบาทเป็นกรณีพิเศษ จากปัจจุบันเกณฑ์ของ ธปท.กำหนดว่า สินทรัพย์ที่นำเข้าจากต่างประเทศมาขายในประเทศไทยจะต้องขายในรูปเงินบาทเท่านั้น

ธนรัชต์ พสวงศ์

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนเกี่ยวกับแนวทางนี้ขณะที่นายธนรัชต์ พสวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทฮั่วเซ่งเฮง กล่าวว่า ยอมรับว่าที่ผ่านมา ก็ได้เข้าหารือร่วมกับ ธปท.ในประเด็นดังกล่าว แต่ทาง ธปท.ก็มีการหารือร่วมกับผู้ประกอบการทองคำอีกหลายรายด้วย เนื่องจากทราบดีว่าผู้ประกอบการแต่ละรายมีลักษณะการประกอบธุรกิจที่แตกต่างกัน จึงต้องหารือกับทุกฝ่ายเพื่อเก็บข้อมูลว่าจะมีมาตรการใดบ้างที่จะมาดูแลการซื้อขายทองคำได้

“ยังไม่มีรายละเอียดแน่ชัดว่ามาตรการดูแลจะออกมาในรูปแบบใด โดยเงินบาทที่แข็งค่าส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ประเทศไทยส่งออกมาก และนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวก็มาก ซึ่งในส่วนของธุรกิจทองคำที่มีการส่งออกสูง โดยเฉพาะในช่วงที่ราคาทองคำปรับตัวขึ้นก็อาจเป็นปัจจัยที่กดดันค่าเงินบาทเช่นกัน” นายธนรัชต์กล่าว

ADVERTISMENT

ด้าน “นพ.กฤชรัตน์ หิรัณยศิริ” ประธานกรรมการ บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด หรือ “ห้างทองแม่ทองสุก” กล่าวว่า ทางบริษัทก็ได้เข้าหารือกับ ธปท.เช่นกัน โดยได้สะท้อนข้อเท็จจริงไปว่า การส่งออกทองคำมีสัดส่วนในการส่งออกภาพรวมแค่ราว 6-7% เท่านั้น และในช่วงที่ราคาทองคำโลกตก ผู้ประกอบการมีการนำเข้าก็พบว่า ค่าเงินบาทก็ยังคงแข็งค่าอยู่ ดังนั้นการส่งออกทองคำจึงไม่น่าจะเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เงินบาทแข็งค่า ซึ่งการจะดูแลเรื่องค่าเงินบาทอาจจะต้องใช้เครื่องมือทางการเงิน หรือเครื่องมือทางการคลังเข้ามาช่วยมากกว่า

“คิดว่า ธปท.คงมีมาตรการออกมา แต่จะกระทบอย่างไรยังไม่รู้ ซึ่งผมพยายามบอกว่า การที่บาทแข็งค่าไม่ได้เกี่ยวกับทองคำโดยตรง เพราะมีสัดส่วนแค่ 6-7% นอกจากนี้ ธุรกิจนี้ยังทำประโยชน์ให้ประเทศด้วย โดยประเทศไทยมีวอลุ่มซื้อขายเป็นอันดับ 5-6 ของโลก ปีละกว่า 1 ล้านล้านบาท มีโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับ คือ ร้านค้าทองคำทั่วประเทศ และมีวัฒนธรรมคนไทยที่ชอบซื้อขายทองคำ เป็นอุตสาหกรรมที่ดี ประเทศอื่นไม่มี แต่มีที่ไทย และคนทำการค้าตรงนี้ก็เก่งด้วย เราจึงเป็นประเทศที่มีการเทรด มียอดนำเข้า ส่งออกเยอะมาก ดังนั้น การจะออกกฎอะไรก็ต้องระวัง และต้องมองให้กว้าง” นพ.กฤชรัตน์กล่าว

ADVERTISMENT

รายงานจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า ภาพรวมการส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-ก.ย. 62) มีมูลค่า 6,762 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 107.44%