“กรุงศรี” เล็งคุย “ดิวตี้ ฟรี” ขยายพันธมิตรสแกนคิวอาร์โค้ดช้อปปิ้งญี่ปุ่น

“ฐากร ปิยะพันธ์” เตรียมตบเท้าคุยกับอีก 5 พันธมิตรในญี่ปุ่น “ดิวตี้ฟรี-บิ๊ก คาเมร่า-เอบีซี มาร์ท-ดองกี้” หวังขยายช่องทางสแกนช้อปปิ้งญี่ปุ่นผ่านคิวอาร์โค้ดอีก 1-2 ราย ภายในปี’63 หลังเปิดให้สแกนจ่ายใน “ตึกม่วง” นักช้อปไทยสแกนจ่ายสูงสุดถึง 1.28 แสนบาท/ครั้ง

นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานกรรมการกรุงศรี คอนซูมเมอร์ และผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงก์กิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในส่วนของ Krungsri QR Pay ธนาคารกรุงศรีฯ และมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (MUFG) เป็นผู้บุกเบิกนำ Thai QR ไปอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวไทยในประเทศญี่ปุ่น ในระยะแรกนี้ลูกค้าสามารถใช้แอปพลิเคชั่น KMA โมบายด์แบงก์กิ้งของธนาคารกรุงศรีฯ เพื่อจ่ายเงินเมื่อซื้อสินค้าที่ห้างทาเคยะหรือ “ตึกม่วง“ แหล่งช้อปปิ้งยอดนิยมของคนไทย โดยลูกค้าที่ใช้จ่ายผ่าน Krungsri QR Pay จะได้รับส่วนลด 3 ต่อ

– ต่อที่ 1 ต่อที่ 1 รับส่วนลดทันที 5% จากร้านทาเคยะ เมื่อมียอดซื้อตั้งแต่ 5,000 เยนเป็นต้นไป

– ต่อที่ 2 รับคืนภาษี 8% (Tax refund) เมื่อมียอดซื้อตั้งแต่ 5,000 เยนเป็นต้นไป

– ต่อที่ 3 รับเงินคืน 5% จากกรุงศรี หรือสูงสุดไม่เกิน 300 บาท/ท่าน/เดือน*

*สำหรับลูกค้าที่ใช้จ่ายผ่าน KMA เท่านั้น ลูกค้าที่ใช้จ่ายผ่านโมบายด์แบงก์กิ้งอื่นๆ จะไม่ได้รับส่วนลดในต่อที่ 3

ทั้งนี้ หลังเปิดให้บริการในเดือน ส.ค.62 ปัจจุบัน (ณ 15 ต.ค.62) มียอดใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตขึ้นทุกเดือน (ดูกราฟฟิก) โดยยอดใช้จ่ายผ่านคิวอาร์โค้ดที่ต่างประเทศในเดือน ต.ค.62 (1-15 ต.ค.) อยู่ที่ 520,000 บาท และมียอดธุรกรรมอยู่ที่ 80 ครั้ง ส่งผลให้ยอดใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 6,580 บาท/ครั้ง ขณะที่ยอดใช้จ่ายสูงสุดอยู่ที่ 128,977 บาท/ครั้ง อย่างไรก็ตาม ยอดใช้จ่ายผ่านคิวอาร์โค้ดต่างประเทศคิดเป็นสัดส่วนเพียง 2.33% เท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบกับการชำระด้วยบัตรเครดิตที่ตึกทาเคยะ

ในส่วนของสินค้าที่ได้รับความนิยมมาก คือ กลุ่มวิตามินเครื่องสำอาง กลุ่มขนมขบเคี้ยว และสินค้าแบรนด์เนม คาดว่าในช่วงไตรมาส 4 ซึ่งเป็นฤดูกาลที่คนไทยจำนวนมากนิยมเดินทางท่องเที่ยวในญี่ปุ่นจะทำให้มียอดใช้จ่ายผ่าน Krungsri QR Pay เพิ่มขึ้นอีกอย่างต่อเนื่อง

นายฐากร กล่าวว่า ในระยะแรกแอปพลิเคชั่นของธนาคารพาณิชย์ไทยที่สามารถใช้งาน Krungsri QR Pay ได้ ได้แก่ KMA (ธนาคารกรุงศรี) Bualuang mBanking (ธนาคารกรุงเทพ) SCB EASY (ธนาคารไทยพาณิชย์) และ K+ (ธนาคารกสิกรไทย) โดยธนาคารที่มาเชื่อมต่อจะเสียเพียงค่าธรรมเนียมในการแลกเปลี่ยนเงินตราเท่านั้น นอกจากนี้ ในอนาคตธนาคารกรุงศรีฯ ยังเปิดรับทุกธนาคารที่พัฒนาคิวอาร์โค้ดฟีเจอร์ให้สามารถรองรับคิวอาร์ต่างประเทศมาเชื่อมต่อได้อีกด้วย รวมถึงมีแผนเพิ่มช่องทางสแกนจ่ายคิวอาร์โค้ดต่างประเทศผ่านการขยายพันธมิตร Krungsri QR Pay อีก 1-2 ราย ภายในปี 2563 โดยเบื้องต้นมีแผนพูดคุยกับ ดิวตี้ฟรี (Duty Free) บิ๊ก คาเมร่า (Bid Camera) เอบีซี-มาร์ท (ABC-MART) และดองกิโฮเต้ (Don Quijote)