แบงก์เร่งขาย NPA หนีภาษีที่ดิน “กรุงไทย-ธอส.” เคลียร์พอร์ตค้างเกิน 5 ปี

แบงก์เร่งระบาย NPA ลดผลกระทบภาษีที่ดินที่เริ่มปี’63 คลังแจงลดหย่อนให้สถาบันการเงิน 5 ปี จ่ายแค่ 10% ของภาระภาษี ยันแบงก์รัฐ-แบงก์พาณิชย์เกณฑ์เดียวกัน “กรุงไทย-ธอส.” เร่งเคลียร์ NPA ค้างนานเกิน 5 ปี “ผยง” แจงมี NPA ค้าง 10 ปีในพอร์ตถึง 4 หมื่นล้านบาท รับปีนี้ขายยาก หากได้ราคาต่ำก็ไม่ขาย คาดปีหน้าเริ่มทยอยขายได้

แหล่งข่าวจากแวดวงการเงิน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตามที่ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2563 นั้น จะส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการทรัพย์สินรอการขาย (NPA) ของสถาบันการเงินพอสมควร เนื่องจากการขาย NPA ค่อนข้างต้องใช้เวลา หากรีบขายก็อาจจะได้ราคาต่ำ อย่างไรก็ดี เชื่อว่าแต่ละสถาบันการเงินก็ต้องพยายามระบาย NPA ให้ได้ภายใน 5 ปี เนื่องจากเป็นระยะเวลาที่ได้รับการลดหย่อนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมถึงเป็นไปตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อยู่แล้ว

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.ภาษีที่ดิน มีการให้สิทธิลดหย่อนภาษี 5 ปีนับจากวันที่ได้มาสำหรับ NPA ของสถาบันการเงิน โดยจะได้รับส่วนลดภาษีไป 90% ของภาษีที่จะต้องจ่าย หรือเสียเพียงแค่ 10% จากนั้นตั้งแต่ปีที่ 6 เป็นต้นไป จะต้องถูกเก็บภาษีในอัตราที่กฎหมายกำหนด ตามประเภทของทรัพย์สิน ทั้งนี้ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวไม่ได้มีการยกเว้นให้ธนาคารแห่งใดแห่งหนึ่งเป็นพิเศษ ดังนั้น ทั้งธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ (SFI) และธนาคารพาณิชย์ ก็ต้องจ่ายภาษีตามที่กฎหมายกำหนดไว้

นายบรรยง วิเศษมงคลชัย ประธานกรรมการบริหาร บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การเก็บภาษีที่ดินนั้น ในแง่ผลกระทบกับ NPA ในพอร์ตของ BAM เองถือว่ากระทบไม่มาก เนื่องจากการเสียภาษีก็จะดูตามประเภททรัพย์สิน ว่าเป็นที่ดินเปล่า คอนโดมิเนียม หรือบ้าน ซึ่งอัตราไม่เท่ากัน บริษัทสามารถรองรับค่าใช้จ่ายได้ ขณะที่กรอบเวลา 5 ปี ก็ไม่น่าจะกระทบ เพราะบริษัทมีการหมุนเวียนขายทรัพย์ NPA ออกไปตลอดเวลาอยู่แล้ว

อย่างไรก็ดี ภาษีที่ดินมีส่วนที่จะทำให้แบงก์เร่งขาย NPA กันมากขึ้น เนื่องจากการถือครอง NPA ไว้ นอกจากต้องเสียภาษีที่ดินแล้ว ยังมีค่าดูแล ค่าจัดการ ค่าจ้าง รปภ.เฝ้า ค่าป้องกันการบุกรุก ค่าดำเนินคดีผู้บุกรุก ฯลฯ

“แบงก์ก็อยากขายอยู่แล้ว การมีภาษีที่ดินก็ทำให้ตัดสินใจง่ายขึ้น โดยปีนี้ก็เริ่มเห็นแบงก์หลายรายขาย NPA กันมากขึ้น ที่ขายมาให้ BAM ก็ 3-4 ราย มูลค่าก็เพิ่มขึ้นหลายพันล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน”

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ปัจจุบันธนาคารถือครอง NPA ไม่มาก มีมูลค่าแค่ราว 4,000 ล้านบาท เทียบกับธนาคารพาณิชย์ที่มีมูลค่าหลัก 2-3 หมื่นล้านบาท ดังนั้นการเก็บภาษีที่ดิน จึงไม่ส่งผลกระทบกับธนาคาร โดยธนาคารยังมีแผนการขาย NPA ปีละประมาณ 500 ล้านบาท ซึ่งสามารถทำได้ตามแผนทุกปี เพราะขายไม่ยากเนื่องจากเป็นทรัพย์แปลงไม่ใหญ่ นอกจากนี้ NPA ที่ธนาคารถือครอง จะมีอายุเฉลี่ยประมาณ 3-5 ปีเท่านั้น ส่วนที่เกิน 5 ปีมีน้อยมากไม่ถึง 5% ของพอร์ตที่ดินทั้งหมดของธนาคาร

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ธนาคารกรุงไทยมี NPA ที่มีอายุ 10 ปีอยู่ค่อนข้างมาก มูลค่ารวมเกือบ 40,000 ล้านบาท ซึ่งในสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ ไม่สามารถที่จะขายได้ทัน และไม่ต้องการขายของดีในราคาถูก โดยในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ ธนาคารอาจต้องตั้งสำรอง NPA ที่ค้างนานเพิ่มเติม และคาดว่า น่าจะขายได้ตั้งแต่ต้นปี 2563 เป็นต้นไป

“คาดว่าต้นปีหน้า NPA ของแบงก์น่าจะขายได้ โดยบางส่วนเราก็เลือกเก็บไว้บริหาร และบางส่วนก็ตัดขายไป ในช่วงที่เหลือของปีนี้ อาจจะพักไว้ก่อนด้วยภาวะเศรษฐกิจ หรือหากขายออกไปตอนนี้ แต่ได้ราคาถูกเราก็ไม่ขาย”

แหล่งข่าวจากธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ธอส.มี NPA ค้างนานในพอร์ตอยู่พอสมควร บางแปลงถือครองมาตั้งแต่หลังปี 2540 ซึ่งในภาพรวม NPA ของธนาคารมีอายุถือครองเฉลี่ยมากกว่า 5% ปี ดังนั้นจึงต้องเร่งขายออกไป หากขายไม่ได้ก็ต้องมีมาตรการมากระตุ้น เช่น โปรโมชั่นสินเชื่อผ่อน 0% นาน 12 เดือน และยกเว้นค่าโอนจดจำนอง เป็นต้น

“ในแต่ละปีธนาคารก็มี NPA เข้ามาจากกรมบังคับคดี โดยบริหารจัดการสินทรัพย์เหล่านี้และขายออกไป ซึ่งทำให้ธนาคารมีกำไรเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม หาก พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯเริ่มใช้ แน่นอนว่าจะมีแรงกดดันของธนาคาร เพราะหากธนาคารบริหารจัดการ NPA ไม่ได้ ก็จะต้องจ่ายภาษีในราคาที่สูงขึ้น หลังจากถือครองระยะเวลาเกิน 5 ปี”