ธปท.เตือนกองทุน FIF ทำพิษ ลงทุนกระจุกฮ่องกง-จีน/ใช้ทุนสำรองอุ้มบาท

ธปท.ชี้คนไทยแห่ลงทุนกระจุกตัวในกอง FIF ใน “ฮ่องกง-จีน” วิ่งหาผลตอบแทนสูงเกิน หวั่นเกิดภาวะเสี่ยงเกิน ธปท.แจงยิบตัวเลข “ทุนสำรอง-ฟอร์เวิร์ด” พุ่งประวัติการณ์ ยอมรับ ธปท.แทรกแซงค่าเงินบาทต่อเนื่อง ระบุบาทแข็งนำเพื่อนบ้าน มาจากดอลลาร์อ่อนค่า ถือเป็นปัจจัยยากจะคุม

นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.เริ่มเห็นความเสี่ยงในจุดต่าง ๆ มากขึ้น จากพฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนสูง (Search for Yield) โดยเฉพาะการเข้าไปลงทุนในกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) ซึ่งพบว่า มีเม็ดเงินลงทุนในต่างประเทศขยายตัวต่อเนื่อง ภายใต้ภาวะอัตราดอกเบี้ยของไทยที่อยู่ในระดับต่ำมานาน โดยเฉพาะเงินลงทุนของคนไทยที่เข้าไปลงทุนผ่าน FIF ที่ยังกระจุกตัวอยู่ในบางประเทศเท่านั้น เช่น ในปีที่ผ่านมา นักลงทุนไปลงทุนในตะวันออกกลางค่อนข้างมาก แต่ปัจจุบันนักลงทุนหันไปลงทุนในจีน และฮ่องกง ที่มีสัดส่วนค่อนข้างมาก ทำให้ ธปท.มองว่าอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงจากการลงทุนได้

“เราเห็นข้อมูลการลงทุนผ่านกองทุน FIF มากขึ้นพอสมควร ช่วงนี้ไปฮ่องกง จีน ในสัดส่วนเยอะ ดังนั้นอะไรที่มากไปก็มีความเสี่ยง เรากลัวการกระจุกตัวแล้วทำให้เกิดความเสี่ยงในจุดใดจุดหนึ่ง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็มีโอกาสเกิดขึ้น นักลงทุนควรต้องดูความเสี่ยงแต่ละผลิตภัณฑ์ให้ละเอียด ไม่ใช่ดูแค่ผลตอบแทนเพียงอย่างเดียว และควรกระจายพอร์ตลดความเสี่ยง หลัก ๆ กองทุนนี้เอาเงินไปลงทุนในเงินฝาก และพันธบัตรในต่างประเทศ” นายเมธีกล่าว

สำหรับทิศทางค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นนำสกุลอื่นในภูมิภาคนี้ นายเมธีกล่าวว่า หากดูจากตัวเลขเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ และฐานะสุทธิซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (Forward) ได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นประวัติการณ์ ซึ่งก็ยอมรับว่า ธปท.ได้เข้าไปแทรกแซงค่าเงินบาทเป็นระยะ ๆ เพื่อประคองไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งค่าจนเกินไป โดยผ่านการเข้าไปซื้อขายสกุลเงินต่างประเทศ ซึ่งเป็นเครื่องมือหนึ่งใช้ดูแลค่าเงินบาท

“เราไม่ปฏิเสธว่าเราได้เข้าไปแทรกแซงค่าเงินบาทเป็นระยะ ๆ ในช่วงที่ผ่านมา เพื่อดูแลค่าเงินบาทในช่วงที่ค่าเงินแข็งค่า หากดูค่าเงินบาทในปัจจุบันแข็งค่าอันดับหนึ่งของภูมิภาคเป็นเพราะดอลลาร์อ่อนค่าลง ซึ่งจากต้นปีจนถึงปัจจุบันเงินบาทแข็งค่าราว 8.5% จากความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ลดลงต่อนโยบายและเศรษฐกิจสหรัฐ ทำให้มองภาพการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด (ธนาคารกลางของสหรัฐ) ไปตามแผนได้ยาก ทำให้มีฟันด์โฟลว์ (เงินต่างชาติ) ไหลเข้ามาในประเทศเกิดใหม่และไทย ค่าเงินจึงแข็งค่า” นายเมธีกล่าว

ทั้งนี้ ฐานะทุนสำรองระหว่างประเทศ ล่าสุด ณ 1 ก.ย.2560 อยู่ที่ 196,175 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และฐานะซื้อสุทธิ Forward อยู่ที่ 31,969 ล้านดอลลาร์ ส่วนปัจจัยที่ ธปท.ไม่ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากปัจจุบันที่อยู่ 1.50% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ นายเมธียืนยันว่า การใช้ดอกเบี้ยกระตุ้นเศรษฐกิจจะสร้างวัฏจักรเศรษฐกิจที่ไม่ยั่งยืน จะทำให้เศรษฐกิจเร่งตัวเกินไป และหากเกิดปัญหาจะทำให้เศรษฐกิจตกเร็วมาก

ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็จะรุนแรง ซึ่งเป็นสิ่งที่ ธปท.ไม่อยากให้เกิดขึ้น ดังนั้น หน้าที่ของนโยบายการเงิน คือ อยากให้เศรษฐกิจราบรื่น หรือไม่แกว่งตัวแรง โดยภายใต้ดอกเบี้ยในปัจจุบันก็จะสามารถประคองศักยภาพเศรษฐกิจในระยะสั้นให้เติบโตในระดับ 3.5-4% ได้

ส่วนเงินเฟ้อในปัจจุบันที่ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายมา 2 ปีกว่านั้น ถือว่าไม่ใช่ภาวะที่ผิดปกติ เนื่องจากประเทศอื่น ๆ ที่ใช้กรอบเงินเฟ้อเป้าหมายหรือ Inflation targeting ก็มีเงินเฟ้อที่ต่ำกว่าเป้าหมายเช่นเดียวกันดังนั้นหากปรับกรอบเงินเฟ้อเร็วเกินไป ก็อาจกระทบต่อความน่าเชื่อถือของการดำเนินนโยบายการเงิน ขณะที่เงินเฟ้อต่ำ สาเหตุหลัก ๆ มาจากฝั่งอุปทาน คือราคาน้ำมัน อาหารสด ที่ราคาอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งหากปัจจัยนี้หายไป เศรษฐกิจฟื้นตัว เงินเฟ้อก็จะค่อย ๆ กลับมาเป็นบวกในที่สุด อีกทั้งการปรับกรอบเงินเฟ้อยังต้องหารือกับหน่วยงานหลายส่วนที่ต้องพิจารณาร่วมกัน อาทิ คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)กระทรวงการคลัง

นายอาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ค่าเงินที่แข็งค่าในปัจจุบันมาจากความไม่สมดุลของเงินไหลเข้า-ออก เช่น มีช่องทางให้เงินไหลเข้ามากกว่าไหลออกนอก ซึ่งค่าเงินที่แข็งค่า ก็มีผลกระทบต่อภาคธุรกิจบ้าง แต่การออกมาตรการทางการเงินเพื่อมาดูแลภาครัฐก็ต้องดูหลายมิติ ทั้งมาตรการระยะสั้น และระยะยาว จึงไม่ใช่หวังให้ ธปท.ลดหรือขึ้นดอกเบี้ยอย่างเดียว ส่วนภาพเศรษฐกิจเริ่มมีทิศทางดีขึ้น คุณภาพลูกค้าเริ่มดีขึ้น ทั้งความสามารถชำระหนี้และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้