สรรพากรผุดหน่วยงานใหม่บี้ภาษีบริษัทข้ามชาติ

แฟ้มภาพ

สรรพากรผุดสำนักงานใหม่ตรวจภาษีบริษัทข้ามชาติ ดึงผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ข้อมูลการถ่ายโอนกำไร ฟาก PwC เผยว่า กว่า 1 หมื่นบริษัทในไทยเข้าข่ายต้องยื่นเอกสารให้สรรพากรครั้งแรก พ.ค. 63 เตือนรับมือแต่เนิ่น ๆ ชี้บริษัทฝ่าฝืนเจอปรับหนัก

นายปิ่นสาย สุรัสวดี ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร กล่าวในงานสัมมนา PwC Thailand’s Symposium 2019 เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า กรมจะจัดตั้งสำนักงานใหม่ขึ้นมา เพื่อดูแลการตรวจสอบภาษีตามมาตรการกำหนดราคาโอน หรือ transfer pricing ที่มีผลบังคับใช้แล้ว โดยจะมีทีมผู้เชี่ยวชาญในการตรวจสอบ รวมถึงจัดหาโปรแกรมมาวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อไม่ให้มีการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบภาษี เนื่องจากบริษัทที่เข้าข่ายเสียภาษี transfer pricing คือ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน และมีรายได้เกินกว่า 200 ล้านบาท ซึ่งจะต้องจัดทำเอกสารที่เรียกว่า “disclosure form” ยื่นต่อกรมสรรพากร พร้อมกับแบบแสดงรายการภาษี ทำให้มีเอกสารจำนวนมาก

“ต้องมีเจ้าหน้าที่ที่มาดูว่า disclosure form ที่แต่ละบริษัทยื่นเข้ามานั้นมีความเสี่ยงหรือไม่ ซึ่งหากมีความเสี่ยงก็มีเวลา 5 ปี ให้ส่ง local file และ master file มา แต่การจะบอกว่ามีความเสี่ยงก็ต้องมีมาตรฐาน ไม่อย่างนั้นก็จะเป็นดุลพินิจ ดังนั้น กรมคิดว่าจะตั้งสำนักงานใหม่เพื่อวางมาตรฐานเรื่องนี้ขึ้นมา โดยให้มีเจ้าหน้าที่ที่เป็น expert มาดูแล”

รายงานจากกรมสรรพากร ระบุว่า บริษัทที่เข้าข่ายจะต้องยื่นเอกสาร “disclosure form” ต่อกรมสรรพากรพร้อมกับแบบแสดงรายการภาษีในเดือน พ.ค. 2563 ทั้งนี้ หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย transfer pricing จะมีโทษปรับไม่เกิน 2 แสนบาท

ด้านนายสมบูรณ์ วีระวุฒิวงศ์ หัวหน้าหุ้นส่วนอาวุโส และกรรมการบริหารสายงานภาษีและกฎหมาย บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวว่า การออกกฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการมากที่สุด ได้แก่ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการตั้งราคาโอน (transfer pricing) โดยผู้ประกอบการที่มีรายได้ตั้งแต่ 200 ล้านบาทขึ้นไปจะต้องจัดทำรายงานข้อมูลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างกัน และมูลค่าของธุรกรรมระหว่างกันในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี ตามแบบที่อธิบดีกำหนดและพร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) ประจำปีเพื่อที่กรมสรรพากรจะได้มีข้อมูลเพียงพอที่จะตรวจสอบผู้ประกอบการได้ โดยมีบริษัทในประเทศไทยเข้าข่ายตามเกณฑ์กฎหมายดังกล่าวประมาณ 10,000 บริษัท ซึ่งเป็นบริษัทที่ PwC ดูแลอยู่ประมาณ 200-500 บริษัท