แบงก์ชาติเผยไตรมาส 3 เศรษฐกิจชะลอตัวโตต่ำเป้า “ส่งออก-ลงทุนเอกชน” หดตัวต่อเนื่อง

ธปท.เผยเศรษฐกิจไตรมาส 3 โตต่ำเป้า “ส่งออก-ลงทุนภาคเอกชน” หดตัวต่อเนื่อง ลุ้นไตรมาส 4 เศรษฐกิจฟื้น คาดตัดสิทธิ GSP ดันเร่งส่งออก-สหรัฐกับจีนมีความชัดเจน-การท่องเที่ยวขยายตัว หนุน GDP ปี’62 โตที่ 2.8%

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.คาดว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 จะเติบโตต่ำกว่าเป้าที่ประมาณการไว้ 2.9% เนื่องจากการส่งออกในเดือน ก.ย.62 หดตัว 1.5% มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ว่าจะหดตัวอยู่ระดับ 1% ซึ่งหากไม่รวมการส่งออกทองคำมูลค่าการส่งออกหดตัวถึง 3.3% และการลงทุนภาคเอกชนก็ยังคงหดตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี 62 ขณะเดียวกันการบริโภคของภาคเอกชนที่ไม่ได้ขยายตัวแรงตามที่คาดการณ์ไว้

อย่างไรก็ดี ยังมีโอกาสลุ้นในไตรมาส 4 ว่าเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวและขยายตัวทั้งปีได้ถึง 2.8% หลังจากมาตรการของรัฐบาลที่ออกมา เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการชิมช้อปใช้ เป็นต้น ประกอบกับกรณีที่สหรัฐประกาศระงับใช้ระบบการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) อาจนำไปสู่การเร่งส่งออกของผู้ประกอบการ ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกกลับมาขยายตัวได้ และอาจมีความชัดเจนจากการทำข้อตกลงร่วมกันระหว่างสหรัฐกับจีน รวมทั้งการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดีขึ้น เนื่องจากในไตรมาส 4 เข้าสู่ฤดูกาลของการท่องเที่ยว

ทั้งนี้ สำหรับการระงับสิทธิ GSP ที่จะมีผลกับสินค้าไทยมูลค่า 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐนั้น หากมองในภาพรวมแล้วในด้านของการส่งออกไม่ได้กระทบการส่งออกของไทยมาก หากพิจารณาตามที่กระทรวงพาณิชย์และธนาคารไทยพาณิชย์ประเมิน พบว่าการตัดสิทธิ GSP กระทบการส่งออกที่ 0.01% ขณะที่อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ อุตสาหกรรมประเภทอาหารทะเล โดยในแง่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบนั้นก็จะต้องดูความสามารถของสินค้าในแง่ของการแข่งขันด้วย