บลจ.บัวหลวง คาดปี’63 กองทุน JASIF ยีลด์แตะ 11.5% รับกำไรเพิ่ม-ทรัพย์สินเดิมได้ต่อสัญญา

นายพรชลิต พลอยกระจ่าง รองกรรมการผู้จัดการ Head of Real Estate & Infrastructure Investment บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด เปิดเผยว่า ในช่วงวันที่ 7-13 พ.ย.62 บริษัทจะเปิดจองซื้อหน่วยลงทุนใหม่ของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน (JASIF) จำนวนไม่เกิน 2,500 ล้านหน่วย ซึ่งผู้ถือหน่วยเดิมที่มีสิทธิ์จองซื้ออยู่ที่ 2.2 หน่วยลงทุนเดิม ต่อ 1 หน่วยลงทุนใหม่ ที่ราคาเสนอขาย 9 บาทต่อหน่วย ซึ่งจะระดมทุนเงินได้ประมาณ 22,500 ล้านบาท และเป็นเงินกู้จำนวน 15,500 ล้านบาท รวมทั้งหมด 38,000 ล้านบาท เพื่อลงทุนในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานประเภททรัพย์สินเส้นใยแก้วนำแสง (Optical Fiber Cable) เพิ่มเติมครั้งที่ 1 จำนวนไม่เกิน 700,000 คอร์กิโลเมตร จาก บมจ.ทริปเปิลที บรอดแบนด์ (TTTBB) ทำให้หลังเพิ่มทุนบริษัทจะมีทรัพย์สินเส้นใยแก้วนำแสง ไม่เกิน 1,680,500 คอร์กิโลเมตร ขนาดมูลค่าสินทรัพย์สุทธิของกองทุนประมาณ 81,500 ล้านบาท เพิ่มจากก่อนเพิ่มทุนที่มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนประมาณ 59,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี JAS จะได้รับเงินจากการขายทรัพย์สินให้กองทุน JASIF จำนวน 3.8 หมื่นล้านบาท หลังจากเปิดจองซื้อหน่วยลงทุนไปแล้ว 1 สัปดาห์

“เรามั่นใจว่าผู้ถือหน่วย JASIF จะเข้าจองซื้อหน่วยลงทุนใหม่ โดยเฉพาะนักลงทุนสถาบันที่แสดงความจำนงเกินสิทธิ์ และทาง บมจ.จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล (JAS) ก็พร้อมเข้าลงทุนเต็มเพดานที่ 33% จากปัจจุบันที่ถืออยู่ 19% โดยข้อมูล ณ วันที่ 15 ต.ค.62 กองทุน JASIF มีสัดส่วนผู้ถือหน่วยลงทุนเป็นนักลงทุนสถาบัน 55% แบ่งเป็นนักลงทุนสถาบันในประเทศ 22% และนักลงทุนสถาบันต่างประเทศ 14% ส่วน JAS ถืออยู่ 19% ด้านนักลงทุนรายย่อย 44% มาจากในประเทศ 25,000 ราย และต่างประเทศ 177 ราย คิดเป็น 0.68%
นายพรชลิต กล่าวว่า จากการลงทุนสินทรัพย์เพิ่มครั้งนี้คาดว่าในปี 2563 จะมีกำไรเพิ่มขึ้นเป็น 8,300 ล้านบาท ซึ่งหากไม่เพิ่มทุนจะแค่ 5,400 ล้านบาท และคาดว่าเงินปันส่วนแบ่งกำไรต่อหน่วยลงทุน (Cash Distribution Per Unit: DPU) จะเพิ่มขึ้นเป็น 1.04 บาทต่อหน่วย จากปี 2562 ที่อยู่ 0.99 บาทต่อหน่วย อย่างไรก็ดีสำหรับอัตราผลตอบแทนจะเพิ่มมาเป็น 11.5% บนราคา 9 บาทต่อหน่วย

“หากราคาปรับขึ้นยีลด์ก็จะปรับตัวลง โดยปีนี้คาดยีลด์จะอยู่ที่ 8.3% บนราคา 11 บาทต่อหน่วย ทั้งนี้เหตุผลที่ยีลด์ดีขึ้น เพราะเงินปันส่วนแบ่งกำไรต่อหน่วยลงทุนดีขึ้น” นายพรชลิตกล่าว

นายพรชลิตกล่าวว่า ในภาวะอัตราดอกเบี้ยในตลาดอยู่ในระดับต่ำและประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยจะยังต่ำอยู่ในช่วง 1-2 ปี โดยกองทุน JASIF น่าจะเป็นตัวเลือกในการลงทุน เพราะนอกจากจะอยู่ในระดับดี ซึ่งถือเป็นกองทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ดีเป็นอันดับ 2 ของทั้งหมดที่มี 8 กองทุน และเงินปันผลที่ได้รับยังสามารถยกเว้นภาษีได้อีก 5 ปี หลังจาก JASIF ได้จ่ายเงินปันผลไปแล้ว 5 ปี ทั้งนี้ช่วง 4 ปีที่ผ่านมา กองทุน JASIF จ่ายเงินปันผลและเงินลงทุนไปแล้วรวม 4.07 บาทต่อหน่วย หรืออัตราผลตอบแทนเฉลี่ย 8-9% ต่อปี

“กองทุน JASIF มีโอกาสโตตามความต้องการใช้อินเทอร์เน็ตที่สูงขึ้น โดยปัจจุบันอัตราการเข้าถึงในไทยอยู่ที่ 40% ของจำนวนประชากร 26 ล้านครัวเรือน ซึ่งถือว่าต่ำกว่าประเทศเวียดนามที่อยู่ 50% และเกาหลีที่ 60% รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยี 5G และ WiFi6 และ Internet of Thing (IoT) การให้บริการคอนเทนต์ระดับไฮเอนด์ นโยบายรัฐบาลผลักดันโครงการให้มีอินเทอร์เน็ตใช้งานทุกหมู่บ้าน และการใช้บริการอินเทอร์เน็ตแบบไร้สายและบรอดแบนด์แบบมีสาย (Fixed Broadband) เติบโตควบคู่กันไป โดย TTTBB มีส่วนแบ่งการตลาดที่ 32% ซึ่งเป็นอันดับ 2 ของตลาด”

นายพรชลิตกล่าวว่า กองทุน JASIF ได้รับการต่ออายุสัญญาเช่าจาก TTTBB ของทรัพย์สินเส้นใยแก้วนำแสง สัดส่วน 80% ของสินทรัพย์ครั้งแรกที่มี 980,000 คอร์กิโลเมตร ซึ่งจะหมดสัญญาในวันที่ 22 ก.พ.2569 ขยายออกไปหมดอายุในวันที่ 22 ม.ค.2575 จะช่วยให้กองทุน JASIF มีรายได้เข้ามาเพิ่มขึ้นอีก 6 ปีข้างหน้า และ TTTBB จะรับผิดชอบการนำเส้นใยแก้วนำแสงลงดินและบำรุงรักษา จากเดิมที่ บลจ.บัวหลวง ตั้งสำรองค่าใช้จ่ายในการนำเส้นใยแก้วนำแสงลงดินและบำรุงรักษาเดือนละ 80 ล้านบาท

รวมทั้งยังมีโอกาสที่ JAS จะขายทรัพย์สินเส้นใยแก้วนำแสงที่มีอยู่อีก 200,000 คอร์กิโลเมตร อย่างไรก็ดีอายุการใช้งานของเส้นใยแก้วนำแสงจะมีถึง 35 ปี ขณะที่ทรัพย์สินที่ JASIF ลงทุนมีอายุเฉลี่ย 3 ปี

ส่วนกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ลงโทษผู้บริหาร JAS ความผิดฐานสร้างราคาหุ้น รวมถึงราคากองทุน JASIF ในตลาดได้ปรับตัวลดลงนั้น ขอชี้แจงว่าเรื่องนี้กองทุน JASIF ไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย เพราะไม่ได้ลงทุนหุ้น แต่ลงทุนทรัพย์สินจาก JAS ซึ่งทรัพย์สินมีลูกค้าอยู่แล้ว ส่วนราคา JASIF ในตลาดปรับตัวลงตามภาวะตลาดที่ปรับตัวลง