ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าหลังเฟดลดดอกเบี้ยตามคาดการณ์

แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤห้สบดีที่ 31 ตุลาคม 2562 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (30/10) ที่ระดับ 30.17/19 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (30/10) ที่ระดับ 30.23/24 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงหลังเมื่อคืน (30/10) คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายระยะสั้นลงร้อยละ 0.25 สู่ระดับร้อยละ 1.50-1.75 ด้วยคะแนนเสียง 8 ต่อ 2 โดยคณะกรรมการมีมุมมองต่อเศรษฐกิจสหรัฐว่า เศรษฐกิจสหรัฐยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่ตลาดแรงงานสหรัฐโดยเฉลี่ยยังมีความแข็งแกร่ง และอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะเคลื่อนตัวเข้าใกล้ระดับเป้าหมายที่ร้อยละ 2.0 อย่างไรก็ตามแนวโน้มดังกล่าวยังคงมีความไม่แน่นอน และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรภาคธุรกิจ และการส่งออกยังคงอ่อนแอ ดังนั้นคณะกรรมการจึงได้ตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง นอกจากนี้ในส่วนของการปรับกรอบเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในอนาคต คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน จะประเมินภาวะเศรษฐกิจสหรัฐ ทั้งในแง่ของความเป็นจริงและคาดการณ์ โดยจะคำนึงถึงเป้าหมายของการจ้างงานสูงสุดและเงินเฟ้อที่ระดับร้อยละ 2.0 และการประเมินนี้จะพิจารณาข้อมูลในวงกว้าง ซึ่งรวมถึงมาตรวัดภาวะตลาดแรงงาน ปัจจัยชี้วัดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ และการคาดการณ์เงินเฟ้อ อีกทั้งพิจารณาถึงความคืบหน้าทางการเงินและสถานการณ์ในต่างประเทศ

ในส่วนของประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เปิดเผยในช่วงระหว่างวัน (31/10) ว่า ในเดือนกันยายน 2562 มูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัวลงร้อยละ 1.5 เมื่อเปรียบเทียบรายปี หากไม่รวมการส่งออกทองคำ มูลค่าการส่งออกหดตัวลงร้อยละ 3.3 โดยเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 จากหลายปัจจัยซึ่งประกอบด้วยภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว, วัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ยังไม่ฟื้นตัว และราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่หดตัว นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้รายงานว่า มูลค่าการนำเข้าสินค้าหดตัวลงร้อยละ 4.5 เมื่อเปรียบเทียบรายปี หากไม่รวมการนำเข้าทองคำ มูลค่าการนำเข้าหดตัวลงร้อยละ 3.5 จากหลายปัจจัยประกอบด้วย การนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง โดยเฉพาะชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่หดตัวสอดคล้องกับภาคการผลิตและการส่งออก รวมทั้งการนำเข้าน้ำมันดิบที่หดตัวจากทั้งด้านราคาและปริมาณ อีกทั้งการนำเข้าสินค้าทุนที่ไม่รวมเครื่องบินและแท่นขุดเจาะ โดยเฉพาะอุปกรณ์โทรคมนาคมและเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่หดตัวลง อย่างไรก็ดี การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคกลับมาขยายตัว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานที่ค่อนข้างต่ำ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 30.16-30.19 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 30.19/20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (31/10) ที่ระดับ 1.1166/68 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (30/10) ที่ระดับ 1.1111/13 ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นสวนทางกับเงินดอลลาร์สหรัฐหลังธนาคารกลางสหรัฐได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายระยะสั้นลงร้อยละ 0.25 อย่างไรก็ตาม ระหว่างวัน มีรายงานยอดค้าปลีกของเยอรมนีในเดือนกันยายนออกมาปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 ต่ำกว่าระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1147-1.1174 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดทีระดับ 1.1168/70 ดอลลาร์สหรั/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (31/10) ที่ระดับ 108.70/73 เยน/
ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (30/10) ที่ระดับ 108.85/87 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ เงินเยนแข็งค่าขึ้นสวนทางกับเงินดอลลาร์สหรัฐ หลังธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษในการประชุมวันนี้ โดยได้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับร้อยละ -0.1 และคงอัตราดอกเบี้ยระยะยาวไว้ใกล้ระดับศูนย์ โดยในการประชุมครั้งนี้ BOJ ได้ส่งสัญญาณว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในวันข้างหน้า หากพิจารณาแล้วเห็นว่าจำเป็น ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 108.25-108.89 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 108.29/30 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจ ในสัปดาห์นี้ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของสหภาพยุโรปในไตรมาส 3 (31/10), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (31/10), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) เดือนตุลาคม (31/10), ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนกันยายน (31/10), ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนตุลาคม (1/11), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายเดือนตุลาคมจากมาร์กิต (1/11), ดัชนีภาคการผลิตเดือนตุลาคม จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) (1/11)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -0.75/-0.70 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -0.70/-0.30 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ