บาทแข็งค่า เฟดลดอัตราดอกเบี้ยตามคาด

แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราต่างประเทศระหว่างวันที่ 28 ตุลาคม 2562 ตุลาคม – 1 พฤศจิกายน 2562 ค่าเงินดอลลาร์ระหว่างสัปดาห์เคลื่อนไหวในกรอบแคบ ๆ เนื่องจากนักลงทุนรอดูผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ระหว่างวันที่ 29-30 ตุลาคม โดยคาดการณ์กันว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% สู่ระดับ 1.5-1.7% ทั้งนี้ ภายหลังการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินธนาคารกลางสหรัฐมีมติ 8-2 เสียง ให้ลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ตามการคาดการณ์ของตลาด ซึ่งจะเป็นการลดครั้งที่ 3 ของเฟดในปีนี้ โดยเฟดต้องการพยุงเศรษฐกิจสหรัฐที่กำลังชะลอตัวให้ขยายตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี เฟดได้ส่งสัญญาณด้วยว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ อาจเป็นครั้งสุดท้ายที่เฟดปรับลดดอกเบี้ยในปีนี้ โดยได้ถอดข้อความสำคัญที่เคยใส่ในการแถลงการณ์ภายหลังการประชุม FOMC นับตั้แต่เดือนมิถุนายนที่ว่า “เฟดจะดำเนินการอย่างเหมาะสม เพื่อรักษาการขยายตัวทางเศรษฐกิจ” ซึ่งข้อความนี้ถูกตีความว่า เฟดจะไม่ลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ ทั้งนี้ ทางคณะกรรมการจะติดตามข้อมูลเศรษฐกิจหลังจากนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจต่อไป

โดยในช่วงแถลงการณ์ต่อสื่อมวลชน นายพาวเวลล์ ประธานเฟดได้ตอกย้ำอีกครั้งว่า จุดยืนด้านนโยบายการเงินของเฟดในปัจจุบันมีความเหมาะสมอยู่แล้ว โดยเศรษฐกิจสหรัฐ ในเวลานี้มีความแข็งแกร่ง แต่ก็มีปัจจัยเสี่ยงที่อาจเข้ามาบั่นทอน เช่น ภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก สงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่ยังมีความไม่แน่นอน และสถานการณ์ความไม่แน่นอนของ Brexit โดยตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐ ที่มีการเปิดเผยในระหว่างสัปดาห์ ตัวเลขความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนตุลาคมออกมาต่ำกว่าระดับคาดการณ์โดยออกมาที่ระดับ 125.9 จุด ตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของชิคาโกในเดือนตุลาคมออกมาที่ระดับ 43.2 จุด ต่ำกว่าระดับคาดการณ์ที่ 48.0 จุด อย่างไรก็ดีตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนโดยสถาบัน ADP ในเดือนตุลาคมปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าระดับคาดการณ์ โดยปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.25 แสนตำแหน่ง จากระดับคาดการณ์ที่ 1.2 แสนตำแหน่ง

ภาวะการเคลื่อนไหวค่าเงินบาท ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบ โดยรอการประชุมกำหนดนโยบายทางการเงินของเฟด เพื่อหาสัญญาณแนวโน้มนโยบายการเงินในระยะต่อไปของเฟด โดยค่าเงินบาทเปิดตลาดวันจันทร์ (28/10) ที่ระดับ 30.17/18 บาท/ดอลลาร์ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (25/10) ก่อนหน้านี้ทางผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่าประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่เผชิญความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ท่ามกลางการใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำมากเป็นเวลานานของประเทศพัฒนาแล้ว โดยธนาคารกลางในตลาดเกิดใหม่ต้องทำตามประเทศพัฒนาแล้วในการชะลอเวลาปรับนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน โดยท่าทีดังกล่าวสนับสนุนมุมมองที่ว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ในการประชุมวันที่ 6 พฤศจิกายนนี้ โดยในวันพฤหัสบดี (31/10) ธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดเผยมูลค่าการส่งออกในเดือนกันยายนปรับตัวลดลง 1.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่มูลค่าการนำเข้าปรับตัวลดลง 4.5%

ขณะที่ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาคของ ธปท. กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนกันยายนยังอยู่ในภาวะชะลอตัว โดยการส่งออกหดตัวต่อเนื่องตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ขณะที่ปัจจัยหนุนกำลังซื้อในประเทศเริ่มเบาบางลง โดยมองตัวเลขจึดีพีในไตรมาสที่ 3 ของไทยอาจจะขยายตัวต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้ว่าจะขยายตัว 2.9% อย่างไรก็ดีคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 จะปรับตัวดีขึ้นจากมาตรการกระตุ้นของภาครัฐ รวมถึงการท่องเที่ยวและการส่งออกที่จะปรับตัวดีขึ้น ระหว่างสัปดาห์ ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 30.15-30.25 บาท/ดอลลาร์ และปิดตลาดวันศุกร์ (1/11) ที่ระดับ 30.16/18 บาท/ดอลลาร์

สำหรับค่าเงินยูโรเปิดตลาดวันจันทร์ (28/10) ที่ระดั 1.1080/82 ดอลลาร์/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (25/10) ที่ระดับ 1.1078/79 ดอลลาร์/ยูโร ค่าเงินยูโรยังเคลื่อนไหวในกรอบแคบโดยนายโดนัลด์ ทัสค์ ประธานคณะมนตรียุโรป เปิดเผยว่า ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) ทั้ 27 ประเทศเห็นชอบเรื่องการขยายระยะเวลาการถอนตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ไปเป็นวันที่ 31 มกราคม 2563 ซึ่งจะมีการดำเนินการในขั้นตอนของเอกสารอย่างเป็นทางการต่อไป นายทัสค์กล่าวว่า หลักการดังกล่าวถือเป็น “Flextension” ที่หมายความว่า อังกฤษสามารถถอนตัวก่อนที่จะถึงเส้นตายดังกล่าวได้ หากทางรัฐสภาได้อนุมัติข้อตกลง โดยค่าเงินยูโรเริ่มปรับตัวแข็งค่าขึ้นหลังการปรับลดดอกเบี้ยของธนาครกลางสหรัฐ (เฟด) ระหว่างสัปดาห์ ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบ 1.1072-1.1174 ดอลลาร์/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (1/11) ที่ระดับ 1.1161/62 ดอลลาร์/ยูโร

ค่าเงินเยนเปิดตลาดวันจันทร์ (28/10) ที่ระดับ 108.66/70 เยน/ดอลลาร์ ทรงตัวจากระดับปิดในวันศุกร์ (25/10) ที่ระดับ 108.64/66 เยน/ดอลลาร์ ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวในกรอบแคบขณะที่ตลาดขาดปัจจัยชี้นำ ทั้งนี้นักลงทุนจับตาดูผลการประชุมกำหนดนโยบายของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในวันที่ 30-31 ต.ค. โดยนักลงทุนคาดว่า BOJ อาจจะเตือนตลาดว่า เศรษฐกิจญี่ป่นอาจจะเติบโตอย่างเชื่องช้าเกินคาด และอาจจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้นโยบายลงสู่ระดับติดลบมากยิ่งขึ้นจากระดับ -0.1% ในปัจจุบัน ขณะที่ในวันอังคาร (29/10) ค่าเงินเยนเปิดตลาดที่ระดับ 108.95/96 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (28/10) ที่ระดับ 108.69/70 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ บรรยากาศในเชิงบวกระหว่างจีน-สหรัฐ ที่มีท่าทีผ่อนคลายมากขึ้น ทำให้นักลงทุนลดการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างสกุลเงินเยนลง และเพิ่มการถือครองสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น สำหรับผลการประชุมนโยบายการเงินของบีโอเจนั้น บีโอเจลงมติด้วยคะแนนเสียง 7-2 ให้คงเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ -0.1% และประกาศว่าจะรักษาระดับผลตอบแทนพันธบัตรของรัฐบาลอายุ 10 ปีของญี่ปุ่นให้อยู่ที่ระดับ 0% ต่อไป ในสัปดาห์นี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวระหว่าง 107.87-109.28 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (1/11) ที่ระดับ 107.97/98 เยน/ดอลลาร์