6 บริษัทถก ตลท.จ่อตั้ง “กองรีท” รีเทิร์นแจ่มตอบโจทย์ช่วงดอกเบี้ยขาลง-หุ้นตก

ตลท.เผยบริษัทเอกชนทยอยออกกองรีทระดมทุนต่อเนื่อง รับมีผู้สนใจเข้าหารือเตรียมออก 5-6 ราย ระบุตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันระดมทุนแล้ว 2 ราย อีก 2 รายกำลังพิจารณาคำขอเข้าจดทะเบียน “บลจ.วรรณ” ชี้ให้ผลตอบแทนดียุคดอกเบี้ยขาลง แถมไม่นับเป็นหนี้ “บล.กสิกรไทย” ระบุเป็นทางเลือกลงทุนที่ปลอดภัย

นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวโน้มการออกทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) หรือรีท ในปีนี้ พบว่า มีการทยอยเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯต่อเนื่อง โดยมีผู้สนใจระดมทุนเข้ามาหารือจริงจังประมาณ 5-6 ราย อย่างไรก็ดี จะเป็นการทยอยออก ซึ่งจะแตกต่างจากหุ้นไอพีโอ (IPO) ที่มีเข้าจดทะเบียนปีละหลาย ๆ บริษัท เนื่องจากสินทรัพย์ที่จะนำมาระดมทุนของกองรีท จะต้องเป็นสินทรัพย์ที่มีความสม่ำเสมอของรายได้ระดับหนึ่ง (mature) เช่น หากเป็นอสังหาริมทรัพย์ประเภทอาคารสำนักงานจะต้องมีผู้เช่าแน่นอน หรือหากเป็นอสังหาริมทรัพย์ประเภทโรงแรมจะต้องมีกระแสการเช่า (flow occupancy) เป็นต้น

“ก็มีผู้สนใจมาพูดคุยเพื่อจะระดมทุนด้วยรีทหลายราย แต่ที่มีเข้ามาคุยเพื่อดำเนินการจริงจังก็จะมีประมาณ 5-6 ราย แต่เทรนด์ก็จะทยอยออกเรื่อย ๆ โดยธรรมชาติของรีทจะแตกต่างจากหุ้นไอพีโอตรงที่ให้ผลตอบแทนค่อนข้างแน่นอน และมีนโยบายจ่ายเงินปันผลจาก 90% ของกำไรสุทธิ ดังนั้น แม้ในภาวะที่ตลาดมีความผันผวน บริษัทก็ยังเลือกที่จะเข้าระดมทุน หรือไม่ได้พิจารณาภาวะตลาดในการระดมทุน เพราะรีทเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนดี (yield product) นักลงทุนจึงให้ความสนใจตลอด” นายแมนพงศ์กล่าว

ทั้งนี้ จากข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ฯ พบว่า ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน มีกองรีทที่เข้าระดมทุนใน SET แล้ว 2 ราย ได้แก่ ทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ เอส ไพรม์ โกรท (SPRIME) และทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ เอไอเอ็ม คอมเมอร์เชียล โกรท (AIMCG) และที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคำขอเข้าจดทะเบียน (upcoming IPO) มีอีก 2 ราย ได้แก่ ทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์บัวหลวง เค.อี. รีเทลี้ (BKER) และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าบลูเวล ฮอสพิทอลลิตี้ (BWHREIT)

นายพจน์ หะริณสุต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) วรรณ จำกัด กล่าวว่า รีทจะได้รับผลบวกจากช่วงทิศทางดอกเบี้ยขาลง และยังเป็นสินทรัพย์ที่ปรับตัวลดลงน้อยกว่าตลาดหุ้นหากเกิดความผันผวนขึ้น อาทิ ตลาดหุ้นปรับตัวลงไป 10% กองรีทจะปรับลดลงแค่ประมาณ 5% ฉะนั้นค่อนข้างเป็นการลงทุนเชิงรับ (defensive) ในขณะที่การจ่ายผลตอบแทนหรือเงินปันผล ก็ยังสูงในระดับ 6-7% นอกจากนี้ ยังเป็นเครื่องมือที่ทำให้อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E ratio) ไม่ปรับเพิ่มขึ้นด้วย เพราะการที่บริษัทนำสินทรัพย์ที่มีมาเข้ากองทุนและขายจะไม่นับเป็นหนี้สิน ซึ่งเป็นทางเลือกแทนการกู้เงินผ่านธนาคาร

นายพิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์ นักวิเคราะห์อาวุโส บล.กสิกรไทย กล่าวว่า เทรนด์กองรีทและอินฟราฟันด์จะเป็นทางเลือกของนักลงทุน เนื่องจากมองว่าภาวะดอกเบี้ยต่ำจะอยู่ไปเรื่อย ๆ โดยที่ดอกเบี้ยไม่มีแนวโน้มปรับขึ้นในระยะสั้น ขณะเดียวกัน ความกลัวเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยยังสูงอยู่ ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (บอนด์ยีลด์) ก็ต่ำ

“สินทรัพย์ประเภทนี้จะคล้าย ๆ บอนด์ ที่ได้เงินปันผลอย่างสม่ำเสมอ ฉะนั้นราคาก็จะขึ้นหรือราคาจะยืนไปต่อเนื่อง โดยรีทที่เป็นอาคารสำนักงาน (office building) เมื่อเศรษฐกิจถดถอย คนก็อาจจะเช่าน้อยลง แต่เนื่องจากออฟฟิศที่อยู่ในกองรีทเป็นออฟฟิศเกรด A และอยู่ในทำเลที่ตั้งที่ดีที่สุด (prime location) เพราะฉะนั้นผลกระทบจะน้อยกว่าออฟฟิศที่อยู่เขต nonprime จึงเป็นทางเลือกที่ปลอดภัย” นายพิสุทธิ์กล่าว