ผู้ว่าแบงก์ชาติเตือนเสี่ยง ‘ดอกเบี้ยต่ำ’ นาน ภาคธุรกิจ-ครัวเรือน สะสมหนี้สูง

ผู้ว่าการแบงก์ชาติส่งสัญญาณเตือนภาวะดอกเบี้ยต่ำนาน กระตุ้นภาวะ search for yield รุนแรงมากขึ้น ชี้ความเสี่ยงรอบนี้ก่อตัวขึ้นในซีกตลาดทุน “หุ้นกู้เสี่ยงสูง” ออกสู่ตลาดมากขึ้น “ธุรกิจ-ครัวเรือน” สะสมหนี้ สะสมความเสี่ยงเพิ่มขึ้น

ขณะที่ตลาดเงินโลกกำลังอยู่ในทิศทาง “ดอกเบี้ยขาลง” ซึ่งในการประชุมเฟด เมื่อวันที่ 30 ตุลาคมที่ผ่านมา ก็มีมติลดดอกเบี้ยลง 0.25% สู่ระดับ 1.5 ถึง 1.75% เป็นการปรับลดดอกเบี้ยครั้งที่ 3 ในรอบปีของเฟด

ในวันเดียวกัน นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานเสวนาเครือข่ายบุคลากรด้านเสถียรภาพระบบการเงิน (Financial Stability Networking) ประจำปี 2562 ในหัวข้อ “ถอดรหัสปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย เร่งแก้อย่างไรให้คนไทยอยู่ดีอย่างยั่งยืน” ว่า ในการประชุมสภาผู้ว่าการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีประเด็นสำคัญ คือ ผลข้างเคียงที่เกิดจาก “อัตราดอกเบี้ยต่ำ” ต่อเนื่องเป็นเวลานานในระบบเศรษฐกิจโลก โดยรายงานสำคัญของ IMF คือ Global Financial Stability Report (GFSR) ในหัวข้อ “low-for-long” ซึ่งแน่นอนว่ากระทบต่อระบบเสถียรภาพทางการเงินทุกประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เอฟเฟ็กต์ “ดอกเบี้ยต่ำนาน”

“การที่อัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นระยะเวลานาน ๆ จะส่งผลต่อสภาพเสี่ยงเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในภาคที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ เพราะตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินโลกปี 2008-2009 ธนาคารพาณิชย์ได้มีการรับรู้กฎเกณฑ์การกำกับดูแลเข้มข้นมาก และความเสี่ยงภาคธนาคารพาณิชย์ถูกจำกัดได้ค่อนข้างดี ปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้มาจากภาคตลาดทุน ไม่ว่าตลาดตราสารหนี้ ตลาดหุ้น เป็นต้น เราจะเห็นกิจกรรมในด้านตลาดพันธบัตรเพิ่มสูงขึ้นมาก”

วันนี้มีพันธบัตรทั่วโลกที่ซื้อขายกันอยู่ในอัตราดอกเบี้ยติดลบ ประมาณ 15-17 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ หากไปดูอัตราดอกเบี้ยติดลบเมื่อประมาณเดือนที่แล้ว จะพบว่า yield curve ของเยอรมนีทั้งหมดมีอัตราดอกเบี้ยติดลบ ซึ่งมีผลเป็นอย่างมากต่อโครงสร้างระบบการเงินโลกในระยะยาว

หากอัตราดอกเบี้ยต่ำไปนาน ๆ จะส่งผลกระทบต่อทั้งกำไรของธนาคารพาณิชย์ในระยะยาว กระทบกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในหลายประเทศไม่สามารถหารายได้ให้สอดคล้อง ให้เท่าทันกับภาระที่มีในอนาคต รวมถึงธุรกิจประกันชีวิตที่เป็น long term saving ก็มีปัญหาที่จะหาผลตอบแทนเพื่อมาจ่ายคืนให้กับลูกค้า

เตือนความเสี่ยงฝั่งตลาดทุน

“ทุกคนจะเข้าสู่ภาวะต้องวิ่งหาผลตอบแทน search for yield, risk for yield โดยที่ประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร เราก็จะเห็นธุรกรรมที่เข้าไปสู่ตราสารที่แปลก ๆ มากขึ้น ตราสารที่ได้เรตติ้งต่ำมากขึ้น แม้กระทั่งพันธบัตรบางประเทศที่ไม่เคยกู้ได้ และมีประวัติผิดนัดชำระ ออกพันธบัตรมากู้ในตลาดโลกก็ขายหมดในเวลาอันสั้น”

ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า ทำให้เห็นสถานการณ์ที่ไปสู่ตราสารที่มีความเสี่ยงสูง ขณะที่กลไกตลาดไม่ได้รองรับดีพอ และเวลาคนทิ้งจะทิ้งพร้อมกันหมด เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ไม่มั่นใจ  หากเกิดสถานการณ์ทำให้สะดุด ก็จะสะดุดแรง

ความเสี่ยงของเสถียรภาพระบบการเงินโลกจึงเป็นความเสี่ยงที่มีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะขณะนี้ที่นักลงทุนไม่ค่อยกลัว คาดการณ์ไปในทิศทางเดียวกัน ทุกคนก็ยิ่งจะเข้าไปลงทุน
ในตราสารที่มีความเสี่ยงสูง ในลักษณะ search for yield มากขึ้น

งัดมาตรการคุม “หุ้นกู้เสี่ยงสูง”

นายวิรไทอธิบายว่า เรื่องนี้เป็นความท้าทายสำหรับผู้ทำนโยบายและผู้กำกับดูแลทั้งโลก ว่าจะดูแลความเสี่ยงของเสถียรภาพระบบการเงินอย่างไร ซึ่งจะต้องอาศัยเครื่องมือที่หลากหลาย อย่างวันนี้เครื่องมือที่เป็น macroprudential policy ก็มีบทบาทมากขึ้น เป็นกลไกกำกับดูแลสถาบันการเงิน ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อดูแลรักษาเสถียรภาพของสถาบันการเงินทั้งระบบ ไม่ใช่เฉพาะแห่ง

อย่างมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัย หรือ LTV เพื่อควบคุมไม่ให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ร้อนแรงเกินไป แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากแต่ละผู้กำกับก็มีขอบเขตการกำกับดูแลที่ค่อนข้างจำกัด และ “เงินก็เหมือนน้ำ
ย่อมไหลไปสู่ที่กฎเกณฑ์ต่ำกว่า” ฉะนั้น เรื่องการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

ขณะที่ macroprudential policy มีผลกระทบกับคนเฉพาะกลุ่มและค่อนข้างแรง จึงมีแรงต่อต้านกลับมาค่อนข้างแรงด้วย อย่างที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ออกมาเรียกร้องให้ ธปท. ยกเลิกมาตรการ LTV แต่คนลืมเรื่อง “สินเชื่อเงินทอน”  ถ้าปล่อยให้คนเก็งกำไรมาก ๆ ก็เหมือนเอาเงินเก็งกำไรของประชาชนมาสร้างดีมานด์เทียมช่วยผู้ประกอบการ นี่จึงเป็นความยากของการทำนโยบาย macroprudential policy ที่จะต้องประสานกับหลายหน่วยงานมากขึ้น

ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า มองไปในอนาคตกับความเสี่ยงของระบบการเงินของโลก หลายประเทศก็เริ่มพูดกันว่า อาจต้องมาคิดกันมากขึ้นเรื่อง macroprudential policy สำหรับตลาดพันธบัตร โดยเฉพาะหุ้นกู้ที่มีความเสี่ยงสูง หุ้นกู้ที่ไม่มีเรตติ้ง ซึ่งจะเป็นเรื่องใหม่ เพราะหากไปดูกฎเกณฑ์การกำกับดูแลของตลาดทุนก็ไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้เท่าไหร่

“นี่ถือเป็นโจทย์ใหญ่ของโลกในเรื่องเสถียรภาพระบบการเงิน ซึ่งเป็นโจทย์ที่จะอยู่ไปกับเราอีกระยะหนึ่ง ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยต่ำเช่นนี้”

“หนี้ภาคธุรกิจ-ครัวเรือน” พุ่งสูง

ผู้ว่าการ ธปท.ระบุว่า อีกเรื่องที่สำคัญ คือ ปัญหาเรื่อง “หนี้” ที่เพิ่มขึ้นสูง ทั้งในภาคธุรกิจและครัวเรือน ซึ่งต้องเร่งแก้ปัญหาด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ที่เพิ่มขึ้นสูงมาก เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบแรงเมื่อเศรษฐกิจสะดุด ปัญหาของระบบการเงินส่วนหนึ่งมาจากที่ภาระหนี้ที่ขึ้นไปสูงมาก ไม่ว่าจะเป็น “หนี้ธุรกิจ” ที่บริษัททั่วโลกมีอัตราส่วนหนี้ต่อทุน (D/E) สูงขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจที่มีขนาดรองรับความเสี่ยงได้ไม่ค่อยดี ขณะที่หุ้นกู้เสี่ยงสูงออกกันมายิ่งส่งผลให้ D/E เพิ่มสูงขึ้น

“ตอนนี้จะเห็นชัดว่าเศรษฐกิจโลกมีทิศทางชะลอลง ผลประกอบการบริษัททั่วโลกก็มีทิศทางชะลอลง แต่มูลค่าของบริษัทยังอยู่ในระดับสูง  แต่ผลประกอบการมีทิศทางที่แย่ลง ขณะที่สัดส่วนหนี้ก็สูงขึ้น เนื่องจากดอกเบี้ยต่ำมาก ธุรกิจหลายแห่งไปออกหุ้นกู้ แล้วนำเงินที่ได้ไปซื้อหุ้นคืน ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นทั่วโลก จึงเป็นผลเบี่ยงเบนของธุรกิจในช่วงดอกเบี้ยขาลง และทำให้กันชนของภาคธุรกิจที่จะรองรับความเสี่ยงบางลง จะเป็นจุดบานปลายที่ทำให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบของตลาดทุนทั่วโลกได้ ซึ่งถ้าเกิดบริษัทใหญ่ของโลกผิดนัดชำระหนี้”

เช่นเดียวกับปัญหา “หนี้ครัวเรือน” จะเห็นชัดว่า ความมั่นคงด้านการเงินของครัวเรือนทั้งโลกอยู่ในระดับที่ต่ำลง กันชนที่จะรองรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด เช่น มีการว่างงานเพิ่มสูงขึ้นจากปัญหาสงครามการค้า เศรษฐกิจโลกชะลอลง ทำให้กันชนของครัวเรือนต่ำลงมาก นำไปสู่ผลข้างเคียงอีกหลายด้านทั้งเรื่องสังคม และการขยายตัวของเศรษฐกิจ

โจทย์ใหญ่คือปรับโครงสร้างหนี้

“โจทย์สำคัญที่สุด คือ เราจะปรับโครงสร้างหนี้ ่ทั้งในครัวเรือนและภาคธุรกิจจำนวนมากอย่างไร มากกว่าที่ว่าจะเร่งปล่อยสินเชื่อให้กับครัวเรือนและภาคธุรกิจได้อย่างไร เพราะปัญหาการเข้าถึงเงินทุนอาจจะไม่สำคัญเท่ากับปัญหาที่จะทำให้มีโครงสร้างในเรื่องหนี้ให้เหมาะสม”

ในประเทศไทยก็มีหลายจุดที่มีความเสี่ยงเรื่องหนี้ อย่าง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีความเสี่ยงในเรื่องหุ้นกู้ค่อนข้างมาก มีการผิดนัดชำระหนี้ของรายใหญ่ ก.ล.ต.ก็ได้ขัดนอตกฎเกณฑ์เพิ่มขึ้น และตลาดก็เริ่มทำหน้าที่ได้ดีขึ้นก็ชะลอปัญหาไปจุดหนึ่ง ขณะที่สหกรณ์ออมทรัพย์ก็เป็นอีกเรื่องที่เราได้แสดงความกังวลร่วมกันมาต่อเนื่อง ก็เป็นเรื่องที่ดีที่ปัจจุบัน พ.ร.บ.สหกรณ์ออมทรัพย์ฉบับใหม่ได้ออกมาแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการขับเคลื่อนกฎเกณฑ์กติกาต่าง ๆ จากกฎหมายแม่ ซึ่งจะต้องเร่งช่วยกันให้เกิดขึ้น เพื่อที่จะลดความเสี่ยงในเรื่องนี้

“แบงก์” สร้างจุดเปราะบาง

สำหรับ “หนี้ครัวเรือน” ขณะนี้ทุกคนตระหนักว่าเป็นปัญหาใหญ่และเป็นจุดเปราะบางของประเทศ แต่ยังไม่เห็นการปรับตัวที่เร็ว ด้วยความที่ขนาดของปัญหานั้นใหญ่มาก การที่จะร่วมมือกันไม่ให้ปัญหากลายเป็นความเสี่ยงเชิงระบบเป็นเรื่องที่สำคัญ

“ปัญหาหนี้ครัวเรือนไม่ใช่เพียงการดูตัวเลขแมโครร้อยละ 80 ของจีดีพี เพราะตัวเลขนี้ไม่ได้บอกอะไรเท่าไหร่ แต่ก็เป็นตัวเลขที่น่ากลัวเพราะหนี้ครัวเรือนระดับร้อยละ 80 ถือว่าสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก”

และสิ่งที่เกิดขึ้น คือ เราเริ่มเห็นผลมาสู่การบริโภคในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ขณะที่รายได้ของประชาชนสูงขึ้น การจ้างงานเพิ่มสูงขึ้น แต่กำลังซื้อไม่ได้เพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่สะท้อนกัน ขณะที่ภาระหนี้ของประชาชนกลับเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ก็มีองค์ความรู้เพิ่มขึ้น มีการนำข้อมูลเชิงลึกทั้งเครดิตบูโร การทำงานของเครดิตแก้หนี้ และจากการสำรวจพฤติกรรมของผู้บริโภคสมัยใหม่ก็จะเห็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป รวมทั้งเห็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของสถาบันการเงินที่สร้างปัญหา สร้างจุดเปราะบางในระดับหนี้ครัวเรือนเยอะมาก

อย่างไรก็ตาม นายวิรไทสรุปว่า การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนต้องแก้ด้วยนโยบายระดับจุลภาค ไม่สามารถแก้ได้ด้วยนโยบายมหภาคอย่างเดียว ต้องตีโจทย์ให้แตก หามาตรการร่วมกัน เพื่อนำไปสู่ความมั่นคงของครัวเรือน
และลดความเสี่ยงของระบบ