จ่อเปิดไลเซนส์ประกันใหม่ คปภ.รับลูกคลังตั้งทีมศึกษา

คปภ.รับลูกคลังเร่งศึกษาออก “ไลเซนส์ประกันใหม่” ตามข้อเสนอ “IMF-ธนาคารโลก” ตั้งทีมเจาะโมเดลฮ่องกงที่เปิด “ไลเซนส์เฉพาะ” 2 รูปแบบ-ไม่มีค่าคอมมิสชั่น หนุนเกิดผู้เล่นใหม่/บริษัทประกันเดิมปรับตัวบุกตลาดดิจิทัลมากขึ้น ระบุการนำมาใช้ในไทยขึ้นกับการปรับตัวของภาคเอกชน

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ คปภ.กำลังศึกษาเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตประกอบกิจการประกันภัยใหม่เพิ่มเติม (ไลเซนส์) ตามคำแนะนำของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก (World Bank) หลังจากตลอด 20 ปีที่ผ่านมา นโยบายภาครัฐไม่มีการให้ออกใบอนุญาตใหม่ ซึ่งขณะนี้ คปภ.ได้ตั้งคณะทำงานศึกษาความเป็นไปได้

โดยเฉพาะการออก “ใบอนุญาตเฉพาะ” เหมือนกับเขตปกครองพิเศษฮ่องกงที่เพิ่งออกใบอนุญาตพิเศษให้บริษัทประกันภัยสามารถดำเนินธุรกิจขายเฉพาะประกันภัยดิจิทัลได้ รวมถึงยังให้ศึกษาความเป็นไปได้ในการออกใบอนุญาตขายเฉพาะประกันภัยรายย่อย (ไมโครอินชัวรันซ์) ด้วย เพราะน่าจะเป็นประโยชน์

“เบื้องต้นได้ส่งทีมงานไปศึกษาโมเดลที่ฮ่องกง โดยถ้าจะออกใบอนุญาตใหม่คงจะไม่ใช่ไลเซนส์บริษัทประกันภัยทั่ว ๆ ไป คงจะต้องเป็นไลเซนส์ประกันภัยพิเศษ ซึ่งตรงนี้รอการศึกษาอยู่ เพราะไม่ใช่อำนาจของ คปภ.แต่เป็นนโยบายรัฐที่ คปภ.ต้องศึกษา” นายสุทธิพลกล่าว

นายอดิศร พิพัฒน์วรพงศ์ ผู้ช่วยเลขาธิการสายกฎหมายและคดี คปภ. กล่าวว่า ปัจจุบันหน่วยกำกับธุรกิจประกันภัยฮ่องกงได้มีการเปิดใบอนุญาตประกันภัยใหม่ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 1.visual license คือเปิดให้มีการขายประกันใหม่ผ่านช่องทางดิจิทัลอย่างเดียวโดยที่ไม่มีช่องทางตัวแทน ไม่มีขายประกันผ่านธนาคาร (แบงก์แอสชัวรันซ์) และนายหน้า ถือเป็นไลเซนส์ใหม่โดยไม่มีค่าคอมมิสชั่น และ 2.digital license ซึ่งเป็นการที่บริษัทประกันที่มีไลเซนส์อยู่เดิม สามารถขอเปลี่ยนเป็นดิจิทัลไลเซนส์ได้หากไม่ต้องการดำเนินธุรกิจผ่านช่องทางอื่นแล้ว

“ไลเซนส์เหล่านี้จะขายแบบประกันง่าย ๆ โดยวิธีคิดไม่ต้องพึ่งพาคนกลาง เพราะฉะนั้น คำถามที่ถามลูกค้าก่อนซื้อจะไม่มาก และอนุมัติผ่านระบบง่าย ๆ ทำให้เหตุผลที่ต้องจ่ายค่าคอมมิสชั่นจึงไม่มี ซึ่งจะทำให้แข่งขันสู้กับบริษัทประกันอื่นได้ที่ทุนประกันเท่ากัน แต่เบี้ยถูกกว่าเพราะไม่มีค่าใช้จ่ายในการได้มา” นายอดิศรกล่าว

ทั้งนี้ กรณีศึกษาในฮ่องกง พบว่า ปัจจุบันมี 2 บริษัทที่ขอใบอนุญาตแบบใหม่เข้ามา ได้แก่ bowtie insurance ที่เป็นบริษัทประกันน้องใหม่ในฮ่องกง ซึ่งขอใบอนุญาตแบบ visual license ส่วนอีกราย คือ blue insurance ที่แต่เดิมคือบริษัท Aviva Insurance ซึ่งเปลี่ยนมาเป็นดิจิทัลไลเซนส์ โดยร่วมทุนกันระหว่าง Aviva Insurance, Hillhouse Capital และ Tencent Holdings Limited ทั้งนี้ คปภ.กำลังพิจารณาว่ารูปแบบที่บริษัทประกันภัยในฮ่องกงใช้อยู่ ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้ทั้ง 2 แนวทาง โดยเมื่อมีความชัดเจนแล้วก็จะเสนอกับเลขาธิการ คปภ.พิจารณา และคงต้องเสนอเข้าสู่คณะกรรมการ คปภ.ต่อไป

“จะช้าหรือเร็วเราคงต้องดูความเป็นไปได้ ทั้งภาคเอกชนที่จะปรับ (apply) ด้วยว่าใครคือผู้เล่น (player) ที่อยากจะเข้ามาเล่น ถ้ามีกระบวนการคงจะต้องเร่งมากกว่านี้แน่ เพราะเป็นเทรนด์ที่ต้องมา และเป็นประโยชน์กับผู้บริโภค โดยหากเปรียบเทียบการมีตัวแทนนายหน้าจะสำคัญกับโปรดักต์ที่ซับซ้อน แต่สำหรับโปรดักต์ง่าย ๆ อย่างประกันอุบัติเหตุ/ประกันรถยนต์ ชั้น 1 ก็มองว่าทำไมต้องเสียค่าคอมมิสชั่น ซึ่งแนวทางที่ศึกษานี้จะเป็นทางเลือกของบริษัทประกันในปัจจุบันที่จะเปลี่ยนตัวเอง” นายอดิศรกล่าว