IMF แนะทั่วโลกกระตุ้นเศรษฐกิจ ตุนเงินสำรองรับปัจจัยเสี่ยงสงครามการค้า

“ไอเอ็มเอฟ” แนะโลกจับมือรับวิกฤตเศรษฐกิจ ชี้ทุกประเทศควรใช้เครื่องมือการเงินอัดฉีดประคองเศรษฐกิจ แต่ต้องกั๊กกระสุนสำรองปัจจัยเสี่ยงสงครามการค้าจีน-สหรัฐ ระบุไทยแข็งแกร่งมีทุนสำรองระหว่างประเทศ 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น “กันชน” รับมือวิกฤต รมว.คลังรับลูก ธปท.ลดดอกเบี้ยได้อีก

นางคริสตาลีนา กอร์เกียวา กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยว่า IMF มีข้อเสนอแนะต่อหลายประเทศสมาชิกทั่วโลกให้เตรียมการเพื่อที่จะดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจร่วมกันเมื่อถึงคราวที่จำเป็น เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงไปในทิศทางเดียวกัน แต่ยังไม่เห็นความร่วมมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจเท่ากับช่วงวิกฤตปี 2540 ที่มีมากกว่านี้ ดังนั้นในเวลานี้ ทั่วโลกควรหันมาร่วมมือกันให้มากขึ้น แม้เศรษฐกิจยังไม่เข้าสู่ภาวะวิกฤตเช่นในปี 2540 ก็ตาม

“ข้อแนะนำของ IMF ต่อรัฐบาลแต่ละประเทศ คือ หากมีช่องว่างในการทำนโยบายการเงินเหลือ (policy space) ก็ขอให้รัฐบาลในประเทศเหล่านั้นดำเนินการอัดฉีดเพื่อประคองเศรษฐกิจ แต่การดำเนินการดังกล่าว
จะต้องพิจารณาถึงการดำเนินนโยบายในอนาคตด้วย ไม่ใช่ใช้กระสุนไปจนหมดทีเดียว เนื่องจากระยะข้างหน้ายังมีปัจจัยความไม่แน่นอนที่รออยู่ อาทิ การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่แม้จะสามารถบรรลุข้อตกลงในระยะแรกได้แล้วก็ตาม แต่ความเสียหายจากการเก็บภาษีทางการค้าก่อนหน้านี้ได้ส่งผลกระทบขึ้นมาแล้ว ซึ่ง IMF คาดว่าผลกระทบต่อจีดีพีโลก ปี 2563 จะมีราว 0.8% หรือราว 7 แสนล้านบาท” นางคริสตาลีนากล่าว

โดย IMF ประเมินการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ปี 2562 ที่ 3% และปี 2563 ที่ 3.4% ขณะที่เศรษฐกิจอาเซียนคาดว่าจะเติบโตที่ 4.6% และ 4.8% ตามลำดับ ส่วนเศรษฐกิจไทยปี 2562 คาดว่าจะเติบโตที่ 2.9% และ 3% ตามลำดับ

ส่วนการดำเนินนโยบายการเงินของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะประชุมวันที่ 6 พ.ย.นี้ นางคริสตาลีนากล่าวว่า การให้คำแนะนำเวลานี้อาจจะไม่เหมาะสมนัก เนื่องจากควรจะเปิดให้ กนง.ได้อภิปรายกันอย่างเป็นอิสระ

“ทุกประเทศต้องดูว่าเท่าใดจึงเหมาะสม และในสภาวะที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่นี้ก็ต้องเก็บกระสุนไว้บ้าง เราอยู่ในภาวะที่ดีขึ้นจากการตัดสินใจด้านการค้าของสหรัฐและจีน ที่จะลดความตึงเครียดลง อย่างไรก็ตาม ความเสียหายจากที่ผ่านมาเกิดขึ้นแล้ว และยังจำเป็นต้องรอบคอบ ประเทศไทยยังมี space สำหรับการดำเนินนโยบายการเงินและการคลัง มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่ยังอยู่ในระดับที่สูงที่ระดับ 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้นเรียกได้ว่าประเทศไทยยังมีกันชนที่แข็งแรง ที่จะสามารถรับมือกับเศรษฐกิจโลกได้ และยังคงมี space สำหรับการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ไทยจึงอยู่ในสถานะที่ดี การจะใช้ Space เหล่านี้อย่างไรก็ขึ้นอยู่กับผู้วางนโยบายเป็นสำคัญ” นางคริสตาลีนากล่าว

นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวว่า IMF ได้มีมุมมองต่อภาวะเศรษฐกิจไทยในตอนนี้ 1.มีความจำเป็นที่จะต้องดูแลให้ผ่านพ้นไป 2.พิจารณาเครื่องมือที่มีโดยเน้นเครื่องมือทางการเงินและการคลัง เนื่องจากไทยมีความสามารถในการใช้ให้ทันการ โดยเครื่องมือทางการเงินนั้น

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในช่วงที่ผ่านมาแล้ว 1 ครั้ง และมองว่าสามารถทำได้อีก และ 3.เน้นความสำคัญในการขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐาน โดยเรื่องที่สำคัญที่สุด คือการพัฒนาบุคลากรของประเทศให้มีทักษะ ความสามารถในการใช้เทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น