5 แบงก์สำรองพุ่ง 40% สัญญาณร้าย NPL ขาขึ้น

ช่วงไตรมาส 3 (ก.ค.-ก.ย.) ปี 2562 ที่ผ่านมา ว่ากันว่า น่าจะเป็นไตรมาสที่หนักหนาสาหัสของธนาคารพาณิชย์ที่สุดในปีนี้แล้ว จากการที่ธุรกิจต้องเผชิญภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และเกณฑ์การกำกับดูแลที่เข้มงวดขึ้น ผลประกอบการที่ออกมา หากตัดรายได้จากรายการพิเศษต่าง ๆ ออกไปแล้ว ก็สะท้อนได้ถึงภาพการทำธุรกิจแบบ “ประคองตัว” ของบรรดาแบงก์ต่าง ๆ

สิ่งที่น่ากังวล ก็คือ หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จนหลาย ๆ แบงก์ต้องพากันตั้งสำรองหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญกันมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

โดยจากการรวบรวมข้อมูลการตั้งสำรองของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 5 แห่ง คือ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ธนาคารกรุงไทย (KTB) และ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ตั้งแต่ต้นปีจนถึงสิ้นไตรมาส 3 ปี 2562 แบบรายแบงก์ (ดูภาพประกอบ) พบว่า แบงก์ไทยพาณิชย์ตั้งสำรองสูงที่สุดในปีนี้ โดยตั้งไปแล้ว 26,603 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 10,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่ตั้งสำรองไป 15,152 ล้านบาท

ส่วนแบงก์กสิกรไทยตั้งสำรองไปแล้ว 25,187 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ตั้ง 24,024 ล้านบาท และแบงก์กรุงศรีที่ตั้งสำรองแล้ว 20,016 ล้านบาท เพิ่มจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ตั้ง 19,390 ล้านบาท ขณะที่แบงก์กรุงไทยตั้งสำรองแล้ว 18,989 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อนที่ตั้งสำรอง 19,761 ล้านบาท และแบงก์กรุงเทพตั้งสำรองแล้ว 16,009 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ตั้ง 19,200 ล้านบาท

แหล่งข่าวจากแวดวงการเงิน บอกว่า การที่แบงก์ไทยพาณิชย์ตั้งสำรองเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในไตรมาส 3 น่าจะเป็นกรณีการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PACE ที่เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทางบริษัทได้แจ้งเรื่องการผิดนัดชำระหนี้ต่อธนาคารไทยพาณิชย์จำนวน 2,645.12 ล้านบาท ซึ่งจะถึงกำหนดในวันที่ 4 พ.ย.นี้ รวมถึงการผิดนัดในมูลหนี้อื่นที่บริษัทและบริษัทย่อยมีต่อธนาคาร และ/หรือเจ้าหนี้รายอื่น ๆ (cross default) อีกรวม 9,227.02 ล้านบาท

“อาทิตย์ นันทวิทยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ บอกว่า ธนาคารได้เพิ่มระดับการตั้งสำรองเพื่อรองรับหนี้ด้อยคุณภาพที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งในไตรมาส 3 ธนาคารได้ตั้งสำรองเพิ่มเติมอีก 9,100 ล้านบาท จากสำรองปกติที่จำนวน 6,173 ล้านบาท รวมเป็นเงินสำรองทั้งสิ้น 15,273 ล้านบาท

ขณะที่อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL ratio) ณ สิ้นเดือน ก.ย. 2562 เพิ่มขึ้นเป็น 3.01% จาก 2.77% ณ เดือน มิ.ย. 2562

ฟาก “ขัตติยา อินทรวิชัย” กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ในไตรมาส 3 ธนาคารมีการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา โดยพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ อย่างรอบคอบ เพื่อให้สอดคล้องกับความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (% NPL gross) ณ วันที่ 30 ก.ย. 2562 อยู่ที่ระดับ 3.53% เพิ่มขึ้นจาก ณ สิ้นปี 2561 อยู่ที่ระดับ 3.34%

ขณะที่ “นริศ สถาผลเดชา” ผู้บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี (TMB Analytics) กล่าวว่า ในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา การตั้งสำรองของแบงก์พาณิชย์ โดยเฉพาะ 5 แบงก์ใหญ่ พุ่งขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากเดิมที่ในช่วง 2 ไตรมาสแรก ตั้งสำรองเฉลี่ยไตรมาสละประมาณ 31,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 43,754 ล้านบาทในไตรมาสนี้ เติบโตถึง 40% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว

“ยอดตั้งสำรองรายไตรมาสของ 5 แบงก์ใหญ่รวมกัน พบว่า ไตรมาส 3 กระโดดขึ้นมาก จากที่ไม่ได้ตั้งมากมาสักพัก ก็เร่งตัวขึ้นมา ซึ่งผมว่าตรงนี้สะท้อนว่า ในอนาคตเอ็นพีแอลก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยไตรมาส 3 นี้เอ็นพีแอลก็เกิน 3% แล้ว อยู่ที่ประมาณ 3.01% ซึ่งพอไตรมาส 4 แบงก์คงปรับโครงสร้างหนี้และขายหนี้ออกไป ทำให้เอ็นพีแอลอาจจะลดลงหรือทรงตัว” นายนริศกล่าว

ส่วนปีหน้า “นริศ” กล่าวว่า ด้วยปัจจัยที่คุณภาพสินเชื่อแย่ลง วัฏจักรเอ็นพีแอลอยู่ในช่วงขาขึ้น รวมถึงมาตรฐานบัญชีใหม่ (TFRS9) ที่จะเข้มข้นขึ้น จะส่งผลให้ปี 2563 แบงก์คงต้องเผชิญปัญหาเอ็นพีแอลที่จะยังเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะช่วงต้นปี ซึ่งเอ็นพีแอลก็น่าจะอยู่ระดับเกิน 3%


“ปีหน้าผมว่า แบงก์ก็คงจะต้องเหนื่อยกับเรื่องคุณภาพสินเชื่อมากขึ้น เอ็นพีแอลคงไปต่อ น่าจะอยู่ระดับที่เกิน 3%” นายนริศกล่าว